ภาวะโลกร้อน หรือวิกฤตสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนบนโลกตระหนักรู้ แต่การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินนั้นปล่อยคาร์บอนที่เป็นมลพิษต่อโลกอย่างมหาศาล ยังไม่รวมเครื่องบิน Private Jet ที่เหล่าคนดังและผู้ทรงอิทธิพลชอบใช้งาน แนวคิดใหม่ของเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตจึงถือกำเนิดขึ้น เรือเหาะพลังงานไฮโดรเจนและพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยให้การเดินทางเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เรือเหาะรักษ์โลก หรือเครื่องบินรูปปลาวาฬ พัฒนาโดยวิศวกรในฝรั่งเศส เป็นเรือบอลลูนยาว 495 ฟุต หรือ 150 เมตร จะบินอยู่บนน่านฟ้า 25 ประเทศ เช่น ประเทศเม็กซิโก อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 20 วัน แบบไม่หยุดพัก คิดเป็นระยะทางกว่า 24,000 ไมล์ โดยการนำทางของนักบิน 3 คน ไปตามเส้นศูนย์สูตรจากตะวันตกไปตะวันออกที่ระดับความสูง 6,000 เมตร ในปี 2026
วัสดุของตัวเครื่องหรือเกราะเครื่องจะเสริมความแข็งแรงถึง 2 ชั้น เพื่อเสริมความเสถียรต่อแรงดันภายนอกขณะที่กำลังบินอยู่บนฟ้า และเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในด้วยในคราวเดียวกัน กลไกการขับเคลื่อนของเรือเหาะลำนี้พึ่งพาพลังงานธรรมชาติ โดยจะใส่ฟิล์มแสงอาทิตย์ไว้ครึ่งบนของตัวเครื่อง สำหรับใช้ชาร์จแบตเตอรี่ให้เรือเหาะขับเคลื่อนได้ตลอด 20 วัน ส่วนพลังงานจากไฮโดรเจนจะเก็บไว้เพื่อช่วยขับเคลื่อนเครื่องยนต์ไฟฟ้าในตอนกลางคืน
เรือเหาะลำนี้จะเริ่มก่อสร้างในปี 2024 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2026 และจะเริ่มเปิดเส้นทางการเดินทางรอบโลกหลังจากการทดลองแล้วเสร็จในทันที ด้วยฝีมือการขับเครื่องบินของอดีตนักบินกระสวยอวกาศ และนักบินกองทัพอากาศฝรั่งเศส เพื่อพาผู้โดยสารทุกท่านเปิดประสบการณ์เดินทางรอบโลก
ที่มาข้อมูล: designboom, flyingmag, robbreport, dailymail
ที่มาภาพ: solarairshipone
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
วันนี้ (3 ต.ค.2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมส่งดาวเทียม THEOS-2 ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าในวันที่ 7 ต.ค.นี้ โดยจะเป็นวันที่น่าจดจำกับภารกิจด้านกิจการอวกาศอีกวันหนึ่ง ในการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร ด้วยจรวดนำส่ง VEGA เวลา 08.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา เมือง Kourou รัฐ French Guiana ทวีปอเมริกาใต้
นายชัย กล่าวว่า ในโอกาสสำคัญดังกล่าว จึงขอเชิญชวนประชาชนติดตามชมการถ่ายทอดสดการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ วลา 08.36 น. ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และผ่านยูทูบ https://www.youtube.com/c/GISTDAspace โดยจะมีวิศวกรดาวเทียมจากอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ร่วมให้ความรู้ตลอดรายการ
สำหรับดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก 1 หนึ่งใน 2 ดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจ เพื่อการพัฒนาดาวเทียม โดยจิสด้า มีศักยภาพถ่ายภาพ และผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 ซม. สามารถถ่ายภาพ และส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตร.กม./วัน
มีภารกิจหลักคือการบันทึกภาพพื้นผิวโลกทั้งในประเทศไทย และพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียด จะช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการเกษตร บริหารจัดการน้ำ จัดการภัยธรรมชาติ จัดการเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ
รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้ว จะใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 วันในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนที่จะทดสอบระบบต่าง ๆ ก่อนเปิดให้บริการ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากจิสด้า ระบุด้วยว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทยในรอบ 15 ปี หลังจากส่ง THEOS-1 หรือดาวเทียมไทยโชตขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2551
อ่านข่าว
ไทยส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร 7 ต.ค.นี้
รบ.เตรียมส่งดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทยขึ้นสู่อวกาศ ต้นปีหน้า
ภัยพิบัติทางธรรมชาติมักทำให้มนุษย์พบกับความยากลำบาก หากจะหาน้ำดื่มเพื่อประทังชีวิตก็เป็นเรื่องยาก เพราะน้ำดื่มที่เคยมีถูกพัดพาไปกับน้ำ หรือหากอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายเป็นเวลาหลายวันน้ำดื่มที่ตุนเอาไว้อาจหมดได้ อีกทั้งไฟฟ้าก็ยังถูกจำกัดทำให้ไม่สามารถทำการผลิตน้ำสะอาดสำหรับดื่มได้อีก นักวิจัยจึงหาทางออกให้ปัญหานี้ โดยใช้วิธีแยกเกลือออกจากน้ำด้วยเทคโนโลยีพลังงานต่ำ เพื่อช่วยในการผลิตน้ำดื่มในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
รีเวอร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis) คือ วิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการแยกเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ออกจากน้ำทะเล โดยวิธีการนี้จะใช้เมมเบรนที่มีรูพรุน (Porous Membrane) เพื่อกรองเกลือและสิ่งสกปรกอื่น ๆ ออกจากน้ำ คงไว้เพียงน้ำจืดเท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้มีประสิทธิภาพอย่างมากในการผลิตน้ำสะอาดจากน้ำทะเล ทั้งนี้รีเวอร์สออสโมซิสยังคงต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในการสร้างแรงดันน้ำที่จำเป็น และเมมเบรนมักอุดตันด้วยเกลือได้ง่าย
วิธีการใหม่ที่นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรพัฒนาขึ้นไม่ได้ใช้แรงดันในการผลิต แต่จะใช้อิเล็กโทรดประจุบวกที่ปลายด้านหนึ่ง และประจุลบที่ปลายอีกด้าน โดยมีเมมเบรนอยู่ตรงกลาง เมื่อทำการกรองน้ำทะเล อิเล็กโทรดที่มีประจุลบจะดึงไอออนคลอไรด์ของเกลือที่มีประจุบวก และอิเล็กโทรดที่มีประจุบวกจะดึงไอออนคลอไรด์ที่มีประจุลบ
จากนั้นไอออนคลอไรด์จะถูกหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และกระบวนการข้างต้นจะถูกทำซ้ำ โดยดึงโมเลกุลของน้ำออกมาทีละน้อย สุดท้ายแล้วน้ำส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ที่อิเล็กโทรดด้านที่เป็นประจุบวกซึ่งจะปราศจากเกลือ
นักวิจัยคาดว่าวิธีการนี้จะใช้ได้ดีในพื้นที่ขนาดเล็กที่ต้องการน้ำดื่ม แต่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตน้ำสะอาดสำหรับดื่มได้ เช่น ในพื้นที่ภัยพิบัติที่ไม่มีพลังงานไฟฟ้า
ที่มาข้อมูล: techexplorist, newatlas, bath
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ผู้คนประมาณ 800 ล้านคนทั่วโลก กำลังต่อสู้กับการรักษาสิวด้วยวิธีการแบบต่าง ๆ เพราะสิวเป็นปัญหาหนักใจอย่างมากสำหรับคนที่มีปัญหาผิวหนังในลักษณะนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย (University of South Australia) ค้นพบการรักษาสิวแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และจะช่วยแก้ปัญหากลุ้มใจของคนเป็นสิวได้อย่างน่าทึ่ง
นาราซิน (Narasin) ยาปฏิชีวนะชนิดโพลีเอเทอร์ (Polyether) เป็นสารประกอบต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดใหม่ที่ถูกห่อหุ้มด้วยอนุภาคนาโนขนาดเล็กที่อ่อนนุ่ม ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์เส้นเดียวถึง 1,000 เท่า ใช้ทาในรูปแบบเจลตรงบริเวณที่เป็นสิว
ผลการศึกษานี้พิสูจน์แล้วว่านาราซิน (Narasin) ช่วยในการต่อต้านแบคทีเรียสิวที่มีอาการดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการส่งผ่านนาโนแคริเออร์ (nanocarriers) ที่สามารถดูดซึมเพิ่มขึ้น 100 เท่า โดยสามารถทะลุผ่านชั้นผิวหนังต่าง ๆ ได้ดี ซึ่งการทดลองนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการพัฒนาและทดลองสูตรนาโนไมเซลล์ของนาราซิน (Narasin)
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้หนังหูหมูในการทดลองว่านาราซิน (Narasin) ที่ห่อหุ้มด้วยอนุภาคนาโนสามารถทะลุผ่านชั้นผิวหนังต่าง ๆ ได้ดีเพียงใด ซึ่งก่อนหน้านี้นาราซิน (Narasin) มักใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในปศุสัตว์ ผลการทดลองพบว่าสูตรนาโนไมเซลล์มีประสิทธิภาพในการส่งนาราซิน (Narasin) ไปยังบริเวณที่เป็นสิว ซึ่งแตกต่างกับสารละลายผสมที่ไม่สามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังได้
ที่มาข้อมูล: newatlas, unisa, happi
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ในการสร้างสถิติโลกครั้งใหม่นี้ ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก (Technische Universit?t M?nchen - TUM) ได้ปรับเปลี่ยนยานพาหนะให้แตกต่างจากที่เคยใช้ในการแข่งขันอื่น ๆ เพื่อให้ได้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) และทำให้มีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ขึ้นด้วยกำลังขับเคลื่อน 15.5 กิโลวัตต์
ตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพใหม่มีน้ำหนักเพียง 374 ปอนด์ (170 กิโลกรัม) และมอเตอร์ซิงโครนัสแม่เหล็กถาวรเดี่ยวมีกำลังไฟฟ้าเพียง 400 วัตต์ ในขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์การลากคำนวณเป็น 0.159 Cd (Coefficient of Drag)
ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิกเรียกตัวเองว่า TUfast Eco ใช้เวลา 6 วันในการสร้างสถิติใหม่ครั้งนี้ ณ โรงเก็บเครื่องบินของสนามบินมิวนิก ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้ทีมสามารถทำการขับรถยนต์ไฟฟ้านี้ได้แม้อยู่ในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทีม TUfast Eco ได้เอาชนะสถิติก่อนหน้าภายในระยะเวลา 4 วัน แต่เมื่อแบตเตอรี่ยังไม่หมดการขับเคลื่อนจึงยังคงดำเนินต่อไปเพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยสรุปแล้วใช้เวลาทั้งหมด 6 วันในการสร้างสถิติใหม่ครั้งนี้ด้วยระยะทาง 1,599 ไมล์ (ประมาณ 2,574 กิโลเมตร)
รถยนต์ไฟฟ้าของทีม TUfast Eco สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 103 ไมล์ต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ทำให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทีมงานเดินทางด้วยรถยนต์ที่ทำลายสถิติไปที่งานแสดง IAA Mobility ในมิวนิก ซึ่งตัวแทนของ Guinness World Records ได้มอบรางวัลให้กับทีมนักศึกษาด้วยรางวัลรถไฟฟ้าที่วิ่งได้ระยะทางที่ไกลที่สุด จากการชาร์จครั้งเดียว โดยไม่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ที่มาข้อมูล: newatlas, tum, insideevs, autoevolution
ที่มาภาพ: tum
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
โรเวอร์คิวริออซิตี (Curiosity) เดินทางถึงหุบเขา Gediz Vallis ซึ่งเป็นหุบเขาที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเป็นแหล่งน้ำไม่กี่แหล่งสุดท้ายก่อนที่ดาวอังคารจะกลายสภาพเป็นดาวทะเลทรายโดยสมบูรณ์ นับเป็นความพยายามครั้งที่ 4 ในรอบ 3 ปี ของโรเวอร์คิวริออซิตีในการพยายามไต่ขึ้นมาบนเขาลูกนี้ก่อนที่จะสำเร็จในที่สุด
ในบริเวณ Gediz Vallis เมื่อ 3 พันล้านปีก่อน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเขาลูกนี้เป็นแหล่งสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลือน้ำอยู่ จึงมีเศษซากหินและตะกอนที่ลอยหรือละลายน้ำได้อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำแห้ง เศษซากเหล่านี้ก็ถูกทิ้งไว้อยู่บนดินจนเวลาผ่านไปให้เราได้มาสำรวจ
ก่อนหน้านี้ โรเวอร์คิวริออซิตีได้ปีนเขา Mount Sharp ที่สูงกว่า 5 กิโลเมตร มาเป็นเวลากว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี 2014 จนเดินทางมาถึงหุบเขา Gediz Vallis ซึ่งโรเวอร์คิวริออซิตีได้ใช้เวลากว่า 11 วันในการถ่ายรูปทุกมุมของหุบเขา รวมทั้งศึกษาส่วนประกอบของหินในบริเวณดังกล่าวซึ่งต่อมาพบว่าหินที่เจอไม่น่าจะมาจากบริเวณดังกล่าว แต่น่าจะถูกพัดมาจากที่อื่นมากกว่า
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ชาวอเมริกันประมาณ 37 ล้านคนเป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคไตระยะสุดท้าย แต่มีเพียงประมาณ 25,000 คนเท่านั้น ที่ได้รับการปลูกถ่ายในแต่ละปีในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากขาดแคลนไตบริจาค ทำให้มีผู้ที่ไม่ได้รับการปลูกถ่ายไตต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
นายมอริซ มิลเลอร์ คนไข้สมองตายรายหนึ่งที่ได้บริจาคร่างกายให้แก่โรงพยาบาล มีอาการป่วยเป็นมะเร็งร่วมด้วยทำให้ไม่สามารถนำอวัยวะไปบริจาคให้คนอื่นได้ ทีมศัลยแพทย์จึงตัดสินใจทำการทดลองนี้กับนายมิลเลอร์
ทีมศัลยแพทย์ได้ทำการทดลองเป็นระยะเวลา 2 เดือน ในการเปลี่ยนไตของนายมิลเลอร์ด้วยไตหมู 1 ไต และต่อมไทมัส (Thymus Gland) ของสัตว์ซึ่งเป็นต่อมที่สำคัญสำหรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยในช่วงเดือนแรกของการทดลองไม่พบความผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อเข้าเดือนที่ 2 พบว่าร่างกายของนายมิลเลอร์ผลิตปัสสาวะลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณของร่างกายที่ปฏิเสธไตหมู ทีมแพทย์จึงเริ่มทดลองให้ยากดภูมิที่จ่ายให้คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งพบว่าการทำงานของไตกลับมาทำงานปกติอีกครั้ง
การทดลองในครั้งนี้เป็นการทดลองในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองทีมแพทย์ได้ผ่าตัดนำไตหมูออกจากร่างของนายมิลเลอร์ และส่งร่างคืนญาติเพื่อนำไปประกอบพิธีต่อไป ทั้งนี้การทดลองกับร่างผู้เสียชีวิตสามารถหลีกเลี่ยงการต่อต้านของระบบภูมิคุ้มกันได้ในทันที ซึ่งหากทำการทดลองกับร่างกายของมนุษย์ปกติจะต้องนำไตหมูไปตัดต่อพันธุกรรมเสียก่อนเพื่อให้เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้ เพราะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะเหล่านั้นทันที
ที่มาข้อมูล: futurism, apnews, medicalnewstoday, interestingengineering
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
โครงการ Mars Sample Return (MSR) เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การนาซา (NASA) และองค์การสำรวจอวกาศยุโรป (ESA) เพื่อนำตัวอย่างหินและดินจากดาวอังคารกลับมาศึกษายังโลก ประกอบไปด้วยส่วนภารกิจย่อยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ ที่ปัจจุบันประจำตำแหน่งอยู่แล้ว ยานลงจอดสำหรับการรวบรวมตัวอย่าง จรวดโคจรดาวอังคาร และยานกลับโลก เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในภารกิจที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ในเดือนพฤษภาคม 2023 นาซาได้ตั้งคณะกรรมการอิสระ (Independent Review Board) เพื่อชี้แนะและให้คำแนะนำแก่นาซาต่อแผนและการดำเนินภารกิจ MSR โดยนาซาจะเป็นผู้ออกแบบแผนภารกิจให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและชี้แนะ ซึ่งคณะกรรมการอิสระมีสิทธิถามคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ภารกิจต่อทีมภารกิจของนาซาเพื่อปรับปรุงแผนภารกิจ
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2023 คณะกรรมการอิสระได้ปล่อยรายงานภารกิจชุดที่ 2 ออกมา ซึ่งเป็นรายงานชุดหลังจากที่นาซาได้ปรับปรุงภาพรวมของภารกิจหลังจากรายงานชุดที่ 1 เช่น การเปลี่ยนจากมีโรเวอร์ตัวที่สองสำหรับการเก็บหลอดตัวอย่างโดยเฉพาะไปเป็นการให้โรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์นำหลอดตัวอย่างมาส่ง เพื่อลดความซับซ้อนของภารกิจ
ในรายงานชุดที่ 2 คณะกรรมการอิสระได้แสดงความกังวลต่อแผนการดำเนินการภารกิจ MSR ในด้านของงบประมาณ ข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงโครงสร้างการบริหารภารกิจ ซึ่งถือว่าร้ายแรงต่อความเป็นไปได้ของภารกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ภายในรายงาน คณะกรรมการอิสระได้วิจารณ์ว่าทีมภารกิจของ MSR นั้น “มีแผนงบประมาณที่ไม่น่าจะเป็นไปได้” และ “มีกรอบเวลาที่เร็วเกินจริงไป” นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระแสดงความเห็นว่าการที่ยังไม่มีภารกิจย่อยอันใดอันหนึ่งลงตัว ทำให้การพัฒนาส่วนประกอบของภารกิจ MSR โดยรวมไม่สามารถเกิดขึ้นแบบคู่ขนานได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้กรอบเวลานั้นช้าลงไปอีก และเสี่ยงต่อการล่าช้า
จากความกังวลเหล่านี้ คณะกรรมการอิสระได้ออกคำแนะนำภายในรายงานกว่า 59 ข้อ ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้เล็งไปที่การปรับปรุงโครงสร้างภารกิจใหม่ให้ชัดเจน ปรับแผนงบประมาณใหม่ และวางโครงสร้างความร่วมมือระหว่างภารกิจย่อยให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระเห็นด้วยกับทีมภารกิจ MSR ว่าการนำตัวอย่างดาวอังคารกลับโลกนั้นมีคุณค่าทางด้านวิทยาศาสตร์สูง ดังนั้นนอกจากคำแนะนำที่เล็งไปทางด้านการดำเนินภารกิจแล้ว คณะกรรมการอิสระยังได้ออกคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการเก็บตัวอย่างอีกด้วย รวมถึงพื้นที่ที่ควรส่งตัวอย่างกลับโลกเพื่อนำมาศึกษาต่อ ซึ่งจะให้คุณค่าทางด้านวิทยาศาสตร์สูงสุดด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด
จึงจะต้องรอดูต่อไปว่าทีม MSR จะตอบโต้หรือยอมรับคำแนะนำของคณะกรรมการอิสระอย่างไร และแผนการดำเนินภารกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ยานลูนาร์รีคอนเนสซองซ์ออร์บิเตอร์ (Lunar Reconnaissance Orbiter: LRO) ถ่ายภาพหลุมอุกกาบาต “Shackleton” ที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพื่อนำไปรวมกับภาพจากกล้อง ShadowCam บนยานโคจรดวงจันทร์ทานูรีของเกาหลีใต้
ภาพจากกล้อง LROC บนยาน LRO นั้นสามารถถ่ายภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถถ่ายภาพบริเวณเงามืดบนดวงจันทร์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึงอย่างในหลุมอุกกาบาตบางหลุม กล้อง ShadowCam นั้นมีความไวต่อแสงสูงกว่ากล้อง LROC ถึง 200 เท่า จึงทำให้สามารถถ่ายภาพเงามืดในหลุมอุกกาบาตเหล่านี้ได้
แต่นั่นก็หมายความกล้อง ShadowCam ไม่สามารถถ่ายภาพพื้นผิวที่โดนแสงอาทิตย์ได้ เนื่องจากความไวต่อแสงของกล้องนั้นสูงเกินไป ดังนั้นการจะถ่ายภูมิประเทศที่มีทั้งบริเวณที่โดนแสงอาทิตย์และบริเวณที่ไม่โดนแสงอาทิตย์ เช่น บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์นั้นจำเป็นต้องใช้ภาพจากทั้งสองกล้องมารวมกัน
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
จากกรณีข่าวสภาเม็กซิโกเผยร่างของมนุษย์ต่างดาวอายุนับพันปี และข่าวการแถลงของนาซา (NASA) ต่อผลการศึกษาวัตถุปริศนาในลักษณะ UAP ที่ถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ หากพิจารณากันจริง ๆ แล้ว นอกจากเนื้อเรื่องที่ดูไร้เหตุผลและเป็นการอวดอ้างเกินจริงแล้ว ช่องโหว่หลาย ๆ อย่างที่เกิดจากการตีความ ก็ได้กลายเป็นตัวสะท้อนปัญหาด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และวงการสื่อสารมวลชนในยุคปัจจุบัน
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2023 ได้มีข่าวใหญ่ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน 2 ข่าว ได้แก่
1. นาซา แถลงข่าวผลการศึกษาวัตถุบินปริศนา (UAP)
2. การนำเสนอร่างมนุษย์ต่างดาว ในสภาของเม็กซิโก
ทำให้หลายสำนักข่าว ได้ตื่นตัวและนำเนื้อหาดังกล่าวมานำเสนอ บางส่วนได้มีการผูกรวมสองเนื้อหาดังกล่าวเข้าด้วยกันว่า นาซาเองอาจกำลังรู้ความลับบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาว ในขณะที่ข่าวร่างมนุษย์ต่างดาวก็ถูกนำมาพูดถึงโดยอาศัยคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การพูดถึงการตรวจสอบดีเอ็นเอ (DNA) ว่าไม่พบดีเอ็นเอของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม มีเพียงแค่สื่อจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่นำเสนอข่าวได้อย่างครอบคลุมรอบด้าน เช่น กรณีของสำนักข่าว เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ที่รายงานข่าวดังกล่าวด้วยพาดหัว “มันมี่จากอวกาศ ? สภาเม็กซิโกได้รับการนำ (ร่างของมนุษย์ต่างดาว) มาเสนอ” (Mummies From Outer Space? Mexico’s Congress Gets a Firsthand Look) จะสังเกตว่าในการพาดหัวนั้นไม่ได้พูดถึงว่า สภาเป็นคนนำร่างมาเปิดเผย แต่สะท้อนความจริงที่ว่า รัฐสภากำลังมีการร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ จึงได้มีการรับฟังความเห็น ซึ่งหนึ่งในผู้ที่เข้ามาเสนอความเห็นก็คือนายเจมี เมาส์ซัน (Jaime Maussan) ที่ได้เป็นผู้นำร่างของมนุษย์ต่างดาวมานำเสนอ พร้อมอ้างว่าเขาได้ค้นพบร่างดังกล่าวในประเทศเปรู และมีการตรวจสอบดีเอ็นเอและผ่านกระบวนการวัดอายุคาร์บอน ที่บ่งบอกว่าร่างดังกล่าวมีอายุกว่าพันปี และไม่ใช่สิ่งมีชีวิตบนโลก รวมถึงอ้างว่าพบไข่ของมนุษย์ต่างดาวในท้อง ซึ่งเนื้อหาที่แท้จริงนั้นมีเพียงเท่าที่กล่าวอ้างมา
เดอะนิวยอร์กไทมส์ ยังให้บริบทเพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นหลังของนายเจมี เมาส์ซัน ที่มักจะพูดถึงมนุษย์ต่างดาวในลักษณะทฤษฎีสมคมคิด และเขาขายอาหารเสริมด้วย
ในวันเดียวกันเองนั้น นาซาเองได้มีกำหนดการณ์แถลงข่าวผลการศึกษาวัตถุบินปริศนาที่เป็นที่พูดถึงกันก่อนหน้านี้ ที่เกิดจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ สามารถบันทึกภาพปรากฏการณ์บางอย่างที่ยังไม่สามารถถูกอธิบายได้ว่าคืออะไร ดังนั้นนาซาในฐานะหน่วยงานที่ศึกษาด้านการบินและอวกาศ จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยกองทัพตรวจสอบ โดยผลออกมาปรากฏว่านาซาเอง ก็ยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอเพื่อจะสรุปว่าสิ่งที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ บันทึกมาได้นั้นคืออะไร และพวกเขาก็ยังคงต้องเก็บข้อมูลต่อไป
หากพิจารณาเราจะเห็นว่าทั้งสองข่าว ไม่ได้มีจุดใดที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงกันได้เลย จึงเป็นเพียงสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันเฉย ๆ แล้วเหตุใดทำไมการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาวจึงเป็นปัญหา คำถามนี้อาจจะตอบได้หากเราพิจารณาถึงบริบททางสังคมและธรรมชาติของคนที่มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องลึกลับ หรือจัดว่าอวกาศ การค้นพบ มนุษย์ต่างดาว และสิ่งลี้ลับ เป็นหัวข้อเดียวกัน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Methodology) นั้น อาศัยข้อมูลและการตีความ อย่างเป็นระบบในการถามหาความจริง ๆ และหลีกเลี่ยงกระบวนการคิดที่เป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy) เช่น การเชื่อมโยงเหตุและผลอย่างไร้ที่มาที่ไป การเลือกนำเสนอข้อมูลที่เข้าข้างตัวเอง เป็นต้น
ในการนำเสนอข่าววิทยาศาสตร์นั้น มีข้อพึงระวังอย่างมากในการอธิบายถึงกระบวนการศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดการตีความที่ผิดพลาด หรือมีความหมายผิดเพี้ยนไป แต่จากกรณีของข่าวทั้งสองเราจะสังเกตเห็นการพาดหัวข่าวไปในลักษณะที่นำเอาการกล่าวอ้างมาเป็นข้อมูล โดยที่ไม่ได้บอกว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้าง เช่น “ตะลึงทั่วโลก สภาเม็กซิโกเผยซาก 'มนุษย์ต่างดาว' อายุกว่าพันปี อึ้งมีสามนิ้ว” หรือ “ตะลึง! เผยซากปริศนาคล้าย “มนุษย์ต่างดาว” พิสูจน์แล้วไม่ใช่ DNA ชาวโลก” ซึ่งล้วนแต่เป็นการสรุปผลที่ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
กรณีนี้จึงน่าตั้งคำถามถึงความสามารถของสื่อมวลชนในการนำเสนอ และตีความข่าวสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้คัดกรองข้อมูลที่จะนำไปสู่ผู้อ่าน (Gate Keeper) และ กำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) ตามทฤษฎีบทบาทสื่อสารมวลชน
หากพิจารณาในทางวิชาการแล้ว การค้นพบร่างของมนุษย์ต่างดาวรวมถึงการนำเอาร่างมานำเสนอนั้น สามารถถูกพิสูจน์ได้ด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น เหตุใดมนุษย์ต่างดาวถึงมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับที่สื่อประกอบสร้างขึ้น ซึ่งจะสะท้อนค่านิยมของสังคมในการประกอบสร้างมนุษย์ต่างดาวให้มีลักษณะหน้าตาคล้ายมนุษย์ หรืออาจตั้งคำถามต่อสิ่งที่นายเจมี เมาส์ซันอ้างว่าได้ศึกษาถึงอายุของร่างดังกล่าวนั้น ใช้กระบวนการแบบใด โดยทั้งหมดนี้ก็อาจเพียงพอให้กรณีร่างของมนุษย์ต่างดาวไม่ได้มีความสลักสำคัญพอที่จะมาอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ได้
เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัจจุบัน หน่วยงานวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็กำลังค้นหาความเป็นไปได้ของการมีสิ่งมีชีวิตนอกโลก หากแต่กระบวนการศึกษาเหล่านั้นถูกทำบนรากฐานของวิทยาศาสตร์ ตรรกะ และเหตุผล ไม่ใช่การหยิบยกคำกล่าวอ้างขึ้นมา และหากสื่อมวลชนมีหน้าที่กำหนดวาระข่าวสาร การหยิบยกเรื่องราวที่มีกระบวนการชัดเจนมาก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่ผู้รับสารมากกว่า ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เรียกว่าข่าว แท้จริงอาจเป็นแค่นิยาย (Fiction) เท่านั้น
ที่มาภาพ: AFP
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ AIRBUS ร่วมแถลงข่าวความพร้อมของดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ของไทย ซึ่งมีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เวลา 08.36 น.(ตามเวลาประเทศไทย)
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก 1 ใน 2 ดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาที่ดำเนินการโดยจิสด้า มีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 ซม. สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตร.กม./วัน
มีภารกิจหลักคือการบันทึกภาพพื้นผิวโลกทั้งในประเทศไทยและพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการเกษตร บริหารจัดการน้ำ จัดการภัยธรรมชาติ จัดการเมืองและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ
การนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ครั้งนี้ ถือเป็นการส่งดาวเทียมความละเอียดสูงมากครั้งแรกของประเทศไทย
เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้วจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 วันในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนที่จะทดสอบระบบต่าง ๆ ก่อนเปิดให้บริการ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า การนำข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 มาใช้พัฒนาประเทศ สามารถเป็นไปได้ในหลายมิติ อาทิ
• การจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 ซม.ต่อพิกเซล และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึงมาตราส่วน 1: 1000
• การจัดการเกษตรและอาหาร ดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้วิเคราะห์และประเมินพื้นที่เพาะปลูก จำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืชและคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด
• การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ใช้ตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ คำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน ตรวจจับแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น บริหารจัดการน้ำทุ่ง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม
• การจัดการภัยธรรมชาติ ข้อมูลดาวเทียม THEOS-2 ที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการวางแผน ป้องกัน แจ้งเตือน อพยพและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้ทันท่วงที
• การจัดการเมือง โดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมเดิมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน
• การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ทำให้เห็นสภาพปัญหาในมุมกว้าง เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ป้องกันการบุกรุกป่าและการบริหารจัดการป่าชุมชน รวมถึงการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในกระบวนการตรวจวัดและประเมินคาร์บอน
ผอ.จิสด้า กล่าวอีกว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศครั้งนี้ ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทยในรอบ 15 ปี หลังจากส่งไทยโชตเมื่อปี 2551
อ่านข่าวอื่นๆ
E = mc² คืออะไร รู้จักสมมูลมวล-พลังงาน
แคปซูลอวกาศเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อย Bennu กลับถึงโลก
หลังตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยจาก OSIRIS-REx เดินทางถึงโลก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
รู้จัก Carbon Mapper อุปกรณ์วัดก๊าซเรือนกระจกตัวใหม่ของนาซา
Carbon Mapper เป็นอุปกรณ์สเปกโทรมิเตอร์ซึ่งพัฒนาและสร้างขึ้นมาโดยห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานไม่แสวงหากำไร “Carbon Mapper” โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกใช้ในการติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์จากนอกอวกาศ
Super Emitters
หนึ่งในเป้าหมายของ Carbon Mapper คือการค้นหา “Super-Emitter” หรือแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก Super-Emitter นั้นจะลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกบนโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการค้นหาตำแหน่งของ Super-Emitter จึงเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญที่สุดของ Carbon Mapper
Carbon Mapper at JPL
ภาพของ Carbon Mapper ที่ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นหลังการประกอบ เตรียมพร้อมส่งไปยังห้องปฏิบัติการ Planet Labs PBC ซึ่งจะสถานที่ไว้ประกอบตัวอุปกรณ์เข้ากับดาวเทียมสำหรับการปล่อยขึ้นสู่อวกาศ
Carbon Mapper during vibration test
ก่อนการปล่อยนั้น Carbon Mapper จะต้องถูกนำมาทดสอบการสั่น (Vibration Test) เสียก่อน เพื่อที่จะยืนยันว่าอุปกรณ์ Carbon Mapper สามารถทนต่อแรงสั่นที่จะเกิดขึ้นระหว่างการปล่อยได้โดยที่อุปกรณ์ไม่เสียหาย ในภาพนี้ วิศวกรกำลังเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการทดสอบการสั่นที่ห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนไอพ่น
Carbon Mapper during thermal vacuum chamber
นอกจากการทดสอบการสั่นแล้ว Carbon Mapper ก็ยังจะต้องผ่านการทดสอบความร้อนและสุญญากาศอีกด้วยเพื่อที่จะยืนยันว่าตัวอุปกรณ์สามารถทนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในอวกาศและสภาวะสุญญากาศได้
Spectral Fingerprint
ภาพเส้นสเปกตรัมของก๊าซมีเทนตามที่วัดได้จากอุปกรณ์ Carbon Mapper ที่ห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนไอพ่น โดยเส้นสเปกตรัมนี้เรียกว่า “Fingerprint” หรือ “ลายนิ้วมือ” ของก๊าซมีเทนซึ่งจะถูกใช้ในการตรวจหาว่าอนุภาคใดมีลายนิ้วมือตรงกันเพื่อแยกก๊าซมีเทนออกจากอนุภาคอื่น ๆ
ที่มาภาพ: NASA/JPL
ที่มาข้อมูล: NASA/JPL
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ความสมมูลมวล-พลังงาน (Mass-Energy Equivalence) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “E = mc ยกกำลังสอง” นั้นเป็นทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานและมวลในระบบที่อยู่นิ่ง (Rest Frame) อธิบายโดยนักวิทยาศาสตร์แห่งยุค อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
ความสมมูลมวล-พลังงาน หมายถึงอะไร ?
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานของมวลและพลังงานก่อน มวลและพลังงานในระบบนั้น ๆ เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน เมื่อระบบสูญเสียมวล ระบบจะได้พลังงานขึ้นมา เมื่อระบบได้พลังงาน มันก็จะสูญเสียมวล เป็นไปตามกฎการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งกล่าวไว้ว่า “สสารไม่สามารถถูกทำลายหรือสร้างขึ้นมาใหม่ได้แต่สามารถเปลี่ยนรูปได้” ในกรณีนี้ มวลและพลังงานสามารถเปลี่ยนรูประหว่างกันได้
การเปลี่ยนรูปของมวลเป็นพลังงานนั้น ให้พลังงานสูงมาก ตามค่าคงที่ความเร็วแสง (ประมาณ 300,000 กิโลเมตร/วินาที) เราจึงได้ขึ้นมาเป็นสมการ E = mc ยกกำลังสอง ที่หมายความว่า พลังงาน เท่ากับ มวลที่สูญเสียไปในระบบคูณค่าคงที่ของความเร็วแสงยกกำลังสอง หากจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น “E = mc ยกกำลังสอง” หมายความว่า มวลเพียงเล็กน้อยที่สูญเสียไปในระบบจะให้พลังงานกับระบบมหาศาล
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อาจจะสงสัยว่า ทำไมการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานถึงได้พลังงานเพียงน้อยนิด เหตุผลเป็นเพราะว่าการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินนั้นแทบไม่เสียมวลเลย ปฏิกิริยาเคมีระหว่างการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อให้ความร้อนนั้นแปลงมวลเกือบทั้งหมดของถ่านหินเป็นขี้เถ้า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ และสสารอื่น ๆ ส่วนความร้อนที่ได้นั้นก็มาจากการทำลายโครงสร้างทางเคมีของถ่านหินที่ปล่อยความร้อนออกมา ไม่ได้มาจากการแปลงมวลเป็นพลังงาน
หากแต่ในปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันดังเช่นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น เชื้อเพลิงนิวเคลียร์อย่างยูเรเนียม 235 (U-235) สามารถเกิดความไม่เสถียรจากการดูดซับนิวตรอนได้ โดย U-235 เมื่อดูดซับนิวตรอนจะกลายสภาพเป็น U-236 ที่ไม่เสถียร ซึ่งสุดท้ายก็จะแยกออกเป็นธาตุที่เบากว่า 2 ธาตุ หรือมากกว่า ระหว่างขั้นตอนนี้เองที่ระบบฟิชชันสูญเสียมวลจำนวนหนึ่งไปในรูปของพลังงานจลน์มหาศาล และปล่อยนิวตรอนอิสระออกมาจำนวนหนึ่งในรูปของการแผ่รังสี
คำอธิบายที่ดูจะเข้าใจง่ายกว่าก็คือ หากให้ U-236 เป็นธาตุ A แล้ว การฟิชชันธาตุ A จะได้ธาตุ B และธาตุ C ขึ้นมา หากแต่ธาตุ B + C นั้นมีมวลไม่เท่ากับ A เพราะมีมวลส่วนหนึ่งหายไป แล้วเหตุใดระบบฟิชชันจึงสูญเสียมวล ? ทำไม U-236 ไม่สามารถแยกตัวออกเป็นธาตุ 2 ตัว หรือมากกว่า ที่มีมวลเท่ากับตัวมันเองได้
มาถึงตรงนี้ เราจะต้องเข้าใจคำว่า “สถานะพลังงาน (Energy State)” ระบบทุกระบบนั้นจะพยายามเข้าหาสถานะพลังงานที่ต่ำที่สุดที่เป็นไปได้เสมอเพื่อรักษาเสถียรภาพ อย่าง U-236 สุดท้ายก็จะแยกตัวออกเป็นธาตุที่เบากว่าและเสถียรกว่า ซึ่งถือเป็นสถานะพลังงานที่ต่ำกว่าตอนที่มันยังเป็น U-236 การเปลี่ยนแปลงสถานะพลังงานของอะตอมของนิวเคลียสนี้เองที่เป็นจุดที่ระบบเสียมวล
นิวเคลียสของธาตุเกาะกันอยู่ได้ด้วยพลังงานยึดเหนี่ยว (Binding Energy) ที่เรียกว่าอันตรกิริยาอย่างเข้ม (Strong Nuclear Force) แต่ก็ไม่ถึงกับรวมกันเป็นหนึ่งเดียวด้วยแรงต้านจากแรงแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Force) จากโปรตอน หมายความว่านิวเคลียสนั้นเสถียรได้ด้วยสมดุลระหว่างสองแรงนี้ ยิ่งธาตุมีมวลมากเท่าใด จำนวนโปรตรอนและนิวตรอนยิ่งมากขึ้น สถานะพลังงานก็ยิ่งสูงขึ้น พลังงานที่ใช้ในการยึดเหนี่ยวก็ยิ่งมากขึ้น เหมือนกับการเอาหนังสือมาทับกันหลาย ๆ เล่มในแนวตั้ง ยิ่งจำนวนหนังสือมากขึ้นเท่าใดมวลก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ความเสถียรก็ลดลงไปด้วย แต่หากแบ่งหนังสือออกเป็นสองกอง มวลแต่ละกองลดลง แต่ความเสถียรเพิ่มขึ้นเพราะอยู่ในสถานะพลังงานที่ต่ำกว่า เช่นเดียวกับนิวเคลียสที่เมื่อแบ่งตัวออกเป็นธาตุที่เบากว่าก็จะใช้พลังงานยึดเหนี่ยวต่อธาตุต่อนิวคลีออนที่น้อยลง พลังงานที่เหลือจึงถูกปล่อยออกมาเทียบเท่ามวลที่เสียไปซึ่งเรียกว่า “มวลพร่อง” หรือ Mass Defect
นี่เป็นเพียงคำอธิบายที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังคงความถูกต้องโดยส่วนใหญ่อยู่ ทฤษฎีความสมมูลของพลังงานและมวลนั้นทำให้มนุษย์เราสามารถนำปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือ Radioisotope Generator เพื่อให้พลังงานและความร้อนแก่ยานอวกาศ ทำงานโดยการแปลงการแผ่รังสี (การเสียมวลตามธรรมชาติของธาตุที่ไม่เสถียร) เป็นพลังงานนั่นเอง
ที่มาภาพ: US Navy
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
24 กันยายน 2023 เวลาประมาณสี่ทุ่ม นาซาถ่ายทอดสดการเก็บกู้แคปซูลจากยานอวกาศ OSIRIS-REx ยานอวกาศที่เดินทางออกจากโลกตั้งแต่ปี 2016 เพื่อทำภารกิจการเก็บตัวอย่างหิน (sample return mission) จากดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) ที่นับว่าเป็นการเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศสหรัฐฯ โดยตัวแคปซูลสามารถลงจอดถึงพื้นได้อย่างปลอดภัยบริเวณทะเลทรายในรัฐยูทาห์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเดินทางไปยังจุดลงจอดด้วยเฮลิคอปเตอร์ และเคลื่อนย้ายตัวแคปซูลด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังฐานเพื่อเตรียมนำส่งไปศึกษาถึงต้นกำเนิดของชีวิตในระบบสุริยะ
ภารกิจ OSIRIS-REx
ภารกิจ OSIRIS-REx เริ่มต้นการเดินทางในวันที่ 8 กันยายน 2016 ตัวยานถูกปล่อยด้วยจรวด Atlas-V ของบริษัท United Launch Alliance เพื่อเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยเบนนู โดยในการเดินทางต้องอาศัยการบินกลับมาโฉบโลกถึงสองครั้งก่อนที่ตัวยานจะเดินทางถึงเป้าหมายในปี 2018 และเริ่มต้นภารกิจการเก็บตัวอย่างหิน
เก็บตัวอย่างหินของ OSIRIS-REx
การเก็บตัวอย่างหินของ OSIRIS-REx นั้นจัดว่าเป็นภารกิจการเก็บตัวอย่างหินจากอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยครั้งแรกของสหรัฐฯ เพราะแม้ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ จะสามารถนำหินดวงจันทร์หลายสิบกิโลกรัมกลับสู่โลกได้ในโครงการอพอลโล (Apollo) ระหว่างปี 1969-1976 แต่สหรัฐฯ ยังไม่เคยมีภารกิจหุ่นยนต์เพื่อนำตัวอย่างหินจากอวกาศห้วงลึกกลับโลกมาก่อน จะมีก็เพียงแค่ญี่ปุ่นกับภารกิจฮายาบูสะ (Hayabusa) ที่ประสบความสำเร็จในการนำตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ (Itokawa) กลับสู่โลกในปี 2010
ภารกิจของ OSIRIS-REx คือการเก็บตัวอย่างหินมวล 60 กรัม บรรจุลงในแคปซูลขนาดกว้างประมาณ 0.8 เมตร โดย OSIRIS-REx ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างใน วันที่ 20 ตุลาคม 2020 และเริ่มต้นการเดินทางกลับสู่โลกในปี 2021
ยานได้เริ่มต้นการเดินทางกลับโลก
ในเดือนพฤษภาคม 2021 ตัวยานได้เริ่มต้นการเดินทางกลับโลก และใช้เวลากว่า 2 ปีในการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวงโคจร ก่อนที่ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2023 นี้ตัวยานจะปลดตัวแคปซูลออกจากตัวยานหลัก เพื่อให้แคปซูลเดินทางเข้าสู่บรรยากาศของโลก ก่อนหน้านั้นนาซาได้มีการซักซ้อมแผนการเก็บกู้อยู่เป็นระยะ จนในที่สุด 24 กันยายน 2023 เวลาประมาณสี่ทุ่มตามเวลาประเทศไทย หินตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูก็ลงจอดสัมผัสกับพื้นโลกในที่สุด หลังจากการเข้าสู่บรรยากาศโลกและชะลอความเร็วด้วยร่มชูชีพ
ในการเก็บกู้เจ้าหน้าที่ของนาซาได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ทั้งสิ้น 4 ลำ โดย 1 ลำถูกใช้ในการส่งตัวแคปซูลหลังจากที่เดินทางกลับจากอวกาศไปยังศูนย์อวกาศจอห์นสันของนาซา (NASA’s Johnson Space Center) เพื่อเปิดแคปซูล
เตรียมเปิดแคปซูล
หลังจากที่แคปซูลเดินทางมาถึงฐานชั่วคราวของนาซาในรัฐยูทาห์ ไม่ห่างจากจุดเก็บกู้ เจ้าหน้าที่ได้นำเอาแคปซูลไปเก็บไว้ในห้องคลีนรูมพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งต่อไปให้กับศูนย์อวกาศจอห์นสัน ซึ่งจะรับหน้าที่เปิดแคปซูลและดูแลรักษาตัวอย่างหินอันล้ำค่านี้
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการศึกษาดาวเคราะห์น้อยเบนนูจะนำไปสู่ความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของชีวิตบนโลก หรือชีวิตบนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะว่ามีที่มาอย่างไร
และด้วยความสำเร็จในครั้งนี้ OSIRIS-REx ก็ได้ปิดฉากภารกิจลงในที่สุด พร้อมกับความน่าตื่นเต้นว่ามนุษยชาติจะได้ค้นพบอะไรจากการศึกษาตัวอย่างหินนี้
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูจากยาน OSIRIS-REx เดินทางถึงโลกเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา โดย OSIRIS-REx จะบินผ่านโลกไป ส่วนแคปซูลตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยจะถูกสลัดออกเพื่อให้ตกกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก แคปซูลเก็บตัวอย่างซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 45 กิโลกรัมจะเดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกที่ความเร็วกว่า 1,850 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวอย่างภายในจะถูกปกป้องจากการสัมผัสกับชั้นบรรยากาศของโลกด้วยเกราะกันความร้อนของแคปซูล ก่อนที่ร่มชะลอความเร็วหลักจะกางออกเพื่อให้แคปซูลร่อนลงสู่พื้นโลก
ทีมเก็บกู้ของภารกิจ OSIRIS-REx ได้เก็บกู้ด้วยการพยากรณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 24 กันยายน ด้วยบอลลูนสำรวจอากาศ (High-Altitude Bballoon) และเครื่องบินเพดานบินสูง (High-Altitude Plane)
หลังตัวอย่างจาก OSIRIS-REx เดินทางถึงโลก ทีมเก็บกู้ภารกิจจะเคลื่อนย้ายแคปซูลตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการพิเศษที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ก่อนที่จะถูกย้ายไปยัง ARES (Astromaterials Research and Exploration Science Directorate) และ JAXA ซึ่งเป็นหน่วยงานเพียง 2 หน่วยงานที่มีความสามารถในการดูแลตัวอย่างจากวัตถุดาราศาสตร์นอกโลกที่ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ (non-restricted bodies) เพื่อการนำตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูออกมาจากแคปซูลโดยที่ไม่ให้ตัวอย่างปนเปื้อนและปกป้องโลกจากสารปนเปื้อนอันตรายที่อาจติดมากับตัวอย่างด้วย ขั้นตอนนี้เราเรียกกันว่า “Curation”
ดาวเคราะห์น้อยเบนนูถูกจัดเป็นกลุ่มวัตถุดาราศาสตร์ที่ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่จึงจำเป็นจะต้องผ่านการ “Curate” ที่ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (Biosafety Level 3 หรือ BSL-3) ส่วนตัวอย่างจากวัตถุดาราศาสตร์ที่อาจเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่อย่างดาวอังคารนั้นจะต้องถูก Curate ในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 (BSL-4) หรือระดับสูงสุดภายใต้สนธิสัญญาอวกาศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนอันตรายจากนอกอวกาศเป็นหลัก (Planetary Protection) และเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอย่างปนเปื้อนซึ่งอาจทำให้ตัวอย่างไม่สามารถนำมาศึกษาต่อได้
หลังจากตัวอย่างถูก Curate แล้ว แต่ละส่วนของตัวอย่างจะถูกแบ่งเป็นส่วนย่อยจำนวนมากเพื่อการแจกจ่ายตัวอย่างเหล่านี้ไปยังห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ทั่วโลกตามที่ ARES และ JAXA เห็นสมควรเพื่อการศึกษาตัวอย่างเพิ่มเติม ขั้นตอนเหล่านี้ใกล้เคียงกับการ Curate และแจกจ่ายตัวอย่างดวงจันทร์ช่วงภารกิจอพอลโล (Apollo) ยกตัวอย่างเช่นตัวอย่างหินดวงจันทร์จากภารกิจอพอลโล 11 ส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้แสดง อีกส่วนหนึ่งถูกแจกจ่ายไปยังทั้ง 50 รัฐ ของสหรัฐอเมริกา ประเทศอื่น ๆ แม้แต่ประเทศไทยเองก็ได้รับหินดวงจันทร์เช่นกัน
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
Contact Lens อัจฉริยะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในปัจจุบัน มีการเสริมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อให้ทำงานได้ในหลากหลายด้าน เช่น การตรวจและการติดตามโรคต้อหิน การส่งยารักษาโรคตา และการฉายภาพเสมือนจริง (Augmented Reality) สู่วิสัยทัศน์ของผู้สวมใส่ ทั้งนี้ Contact Lens อัจฉริยะยังคงมีความท้าทายเกี่ยวกับการจ่ายพลังงาน ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนันยางจึงคิดค้นแบตเตอรี่ที่มีความบางเท่ากระจกตา เพื่อจ่ายพลังงานให้กับ Contact Lens อัจฉริยะ
ระบบชาร์จแบตเตอรี่ให้กับ Contact Lens อัจฉริยะที่เป็นที่นิยมนั้น ต้องใช้อิเล็กโทรดโลหะในเลนส์ ซึ่งเป็นอันตรายหากสัมผัสกับตาเปล่า ในขณะเดียวกัน โหมดการจ่ายพลังงานให้กับเลนส์อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือการชาร์จแบบเหนี่ยวนำนั้น ต้องใช้ขดลวดอยู่ในเลนส์เพื่อส่งพลังงาน เหมือนกับแผ่นชาร์จไร้สายสำหรับสมาร์ตโฟน
ทางเลือกสำหรับแบตเตอรี่ Contact Lens อัจฉริยะที่ทีมนักวิจัยเสนอ คือ แบตเตอรี่รวมเลนส์มีความบางเพียง 0.5 มิลลิเมตร ที่รวมน้ำและการเคลือบเอนไซม์โดยเรียกว่ากลูโคสออกซิเดส เมื่อแบตเตอรี่แบนและยืดหยุ่นถูกจุ่มลงในของเหลวหรือน้ำตาที่เคลือบดวงตาของเรา เอนไซม์จะทำปฏิกิริยากับโซเดียมและคลอไรด์ไอออนในของเหลวนั้น ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าภายในน้ำในแบตเตอรี่
ในการทดสอบในห้องปฏิบัติการโดยใช้สายตามนุษย์จำลอง แบตเตอรี่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 45 ไมโครแอมแปร์ และกำลังสูงสุด 201 ไมโครวัตต์ ซึ่งนักวิจัยอ้างว่าจะเพียงพอที่จะส่งข้อมูลแบบไร้สายจาก Contact Lens อัจฉริยะเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ในปัจจุบัน แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานสูงสุด 200 รอบการชาร์จ/คายประจุ ในทางตรงกันข้าม แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่คล้ายกันมักมีอายุการใช้งาน 300 ถึง 500 รอบ
แม้ว่าของเหลวอย่างน้ำตาของผู้ใช้สามารถช่วยให้เลนส์ทำงานตลอดทั้งวัน แต่นักวิจัยแนะนำว่าให้แช่เลนส์ไว้ในน้ำเกลือข้ามคืนเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อที่เลนส์จะเริ่มทำงานในแต่ละวันด้วยแบตเตอรี่ที่ถูกชาร์จเต็มที่แล้ว
ที่มาข้อมูล: interestingengineering, newatlas, ntu
ที่มาภาพ: ntu
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2566 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ถ่ายทอดสดการลงจอดของแคปซูลอวกาศ ซึ่งบรรจุตัวอย่างดินจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเก็บตัวอย่างมา ลงมายังทะเลทรายในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ภายในพื้นที่ควบคุมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเวลา 10.52 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือเกือบเวลา 22.00 น.ตามเวลาในไทย
รวมถึงถ่ายทอดสดการส่งทีมงานเคลื่อนย้ายแคปซูล และการนำตัวอย่างเข้าสู่ห้องปลอดเชื้อ ท่ามกลางการติดตามอย่างใกล้ชิดและความยินดีของทีมงานที่เฝ้าชมอยู่จากศูนย์ควบคุม
แคปซูลดังกล่าวปล่อยลงมาจากยาน OSIRIS-REx ระหว่างโคจรผ่านโลกในระยะ 108,000 กิโลเมตร โดยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 12 กิโลเมตรต่อวินาที หรือประมาณ 43,452 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่ร่มชูชีพจะชะลอความเร็วลงและร่อนลงอย่างปลอดภัย ถือเป็นห้วงเวลาสำคัญที่สุดของภารกิจร่วมระหว่างนาซา กับมหาวิทยาลัยแอริโซนา ซึ่งกินเวลานานถึง 7 ปี
ยาน OSIRIS-REx เก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย Bennu เมื่อปี 2020 หลังยานดังกล่าวออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 2016 และใช้เวลา 2 ปีกว่าจะเดินทางถึง Bennu และเดินทางกลับมา 6,200 ล้านกิโลเมตร เพื่อนำส่งตัวอย่างกลับสู่โลก
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ชื่อว่าเป็นก้อนหินที่อันตรายที่สุดในระบบสุริยะ ถูกค้นพบเมื่อปี 1999 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เต็มไปด้วยคาร์บอนและถูกจัดให้เป็นวัตถุที่อยู่ใกล้โลก เนื่องจากมีวงโคจรที่เฉียดใกล้โลกทุกๆ 6 ปี แต่โอกาสในการชนปะทะกับโลกจัดอยู่ในระดับต่ำ
ตัวอย่างพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย Bennu อาจช่วยไขปริศนาการก่อตัวของระบบสุริยะ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่า 4,600 ล้านปีก่อน และยังอาจให้คำตอบถึงจุดกำเนิดชีวิตบนโลกได้ด้วย
ตัวอย่างชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างที่ 3 ที่มีการนำกลับมาสู่ผิวโลกเพื่อการศึกษาวิเคราะห์ ซึ่งก่อนหน้านี้หน่วยงานอวกาศญี่ปุ่นทำสำเร็จไป 2 ภารกิจในปี 2010 และ 2020 หนึ่งในนั้นมาจาก Bennu เช่นกัน
อ่านข่าวอื่นๆ
ดาวเทียม "GOES-U" ผ่านการทดสอบก่อนปล่อย
วิจัยระบุ "โลก" อาจเสียมวล "แผ่นน้ำแข็ง" กว่าครึ่ง ภายในปี 2100
“กล้องโทรทรรศน์อวกาศสวิฟต์” บันทึกเหตุ “หลุมดำ” กำลังกลืน “ดาวฤกษ์”
กระจกตาเป็นส่วนด้านหน้าของดวงตาที่มีความโปร่งใส หากได้รับความเสียหายจากการบาดเจ็บอาจส่งผลต่อการมองเห็นของบุคคลได้ ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์จะทำการปลูกถ่ายกระจกตาโดยใช้กระจกตาที่ได้รับบริจาคซึ่งเป็นขั้นตอนทั่วไปในการรักษา แต่ในกรณีที่มีสารเคมีไหม้ดวงตา เนื้อเยื่อโดยรอบอาจเสียหายเกินกว่าที่จะปลูกถ่ายได้
การทดลองทางคลินิกครั้งนี้ได้ทำการทดลองการรักษาแบบใหม่ที่สามารถช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ได้ ซึ่งเรียกว่าการปลูกถ่ายเซลล์เยื่อบุผิวแบบเพาะเลี้ยง (Cultivated Autologous Limbal Epithelial Cells :CALEC) และการนำสเต็มเซลล์ (Stem Cell) จากตาอีกข้างของผู้ป่วยเองไปทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งไม่กี่สัปดาห์ถัดมาการปลูกถ่าย CALEC ใหม่นี้ก็พร้อมที่จะปลูกถ่ายไปยังดวงตาที่ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการช่วยฟื้นฟูการมองเห็นของผู้ป่วย และยังกระตุ้นเซลล์ใหม่ให้เติบโตอีกด้วย ซึ่งอาจช่วยเอื้อต่อการปลูกถ่ายกระจกตาตามปกติในภายหลัง
ในการศึกษาระยะที่ 1 มีผู้ป่วย 2 จาก 5 ราย ที่มองเห็นการปรับปรุงด้านสายตาอย่างเห็นได้ชัดโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอื่นเพิ่มเติม โดยผู้ป่วยทั้ง 2 รายได้รับการขยายการมองเห็นเป็น 20/30 โดยรายหนึ่งการมองเห็นดีขึ้นจาก 20/40 และอีกรายก่อนหน้านี้มองเห็นเพียงการเคลื่อนไหวของมือ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอีก 2 คนมีสิทธิ์ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตา แต่ผู้ป่วยรายที่ 5 ไม่สามารถรับการปลูกถ่ายได้ เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดไม่สามารถขยายตัวได้เพียงพอในห้องปฏิบัติการ
ผลลัพธ์ที่ได้ถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีทางเลือกใหม่ในการฟื้นฟูการมองเห็นที่สูญเสียไปจากการได้รับการบาดเจ็บ ซึ่งการทดลองในระยะต่อไปกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีผู้ป่วยที่เข้าร่วม 15 รายที่ได้รับการปลูกถ่าย CALEC ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามผลนานกว่า 18 เดือน
ที่มาข้อมูล: newatlas, interestingengineering, nbcnews, medpagetoday
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ในงานเปิดตัว iPhone 15 แอปเปิล (Apple) ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเปลี่ยนให้ iPhone หันมาใช้พอร์ตการเชื่อมต่อแบบ USB-C เป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้แอปเปิลได้นำเอาการเชื่อมต่อแบบ USB-C มาใช้กับ iPad รุ่นต่าง ๆ มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ได้นำไปสู่จุดสิ้นสุดของพอร์ตการเชื่อมต่อ Lightning ที่แอปเปิลใช้มาอย่างยาวนาน ในบทความนี้เราจะชวนมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไปว่าแอปเปิลเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ย้อนกลับไปในปี 2007 เมื่อแอปเปิลเปิดตัว iPhone รุ่นแรก แอปเปิลได้ออกแบบ iPhone ให้ใช้การเชื่อมต่อผ่านพอร์ต 30 พิน ซึ่งมีลักษณะเป็นพอร์ตเชื่อมต่อแบบแบนยาว เป็นพอร์ตแบบเดียวกับที่แอปเปิลออกแบบมาให้ใช้งานกับอุปกรณ์เล่นเพลง iPod ซึ่งการนำเอาพอร์ตเชื่อมต่อดังกล่าวมาใช้นั้น เป็นการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) การใช้งานอุปกรณ์ของแอปเปิลให้มีมาตรฐานเดียวกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป iPhone ได้ถูกออกแบบให้มีความบางขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงต้องการความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลให้เร็วขึ้น แอปเปิลได้เล็งเห็นว่าพอร์ตแบบ 30 พินนั้น จำเป็นต้องได้รับการออกแบบใหม่ ในงานเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ปี 2012 แอปเปิลจึงได้เปิดตัว iPhone 5 มาพร้อมกับพอร์ตการเชื่อมต่อแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม ตั้งชื่อว่า Lightning โดยในงานเดียวกันนี้แอปเปิลยังได้เปิดตัวอุปกรณ์ iPod รุ่นต่าง ๆ ที่เปลี่ยนมาใช้พอร์ต Lightning ด้วยเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นแอปเปิลก็นำพอร์ต Lightning มาใช้งานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกเหนือจาก iPhone และ iPod เช่น iPad และอุปกรณ์เชื่อมต่อได้แก่ เมาส์และคีย์บอร์ด รวมถึงรีโมตของอุปกรณ์ Apple TV
ในช่วงเดียวกันนั้นเอง Apple ยังได้เป็นผู้ผลักดันมาตรฐานการเชื่อมต่อ USB แบบใหม่ ที่ชื่อว่า USB-C ที่มีขนาดเล็กกว่าพอร์ต USB ปกติ อย่างไรก็ตาม USB-C นั้นเป็นที่นิยมมากในกลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ในปี 2016 แอปเปิลได้นำเอาพอร์ต USB-C มาใช้งานบนคอมพิวเตอร์ MacBook Pro รุ่นใหม่ แต่ก็ยังมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่า อุปกรณ์ขนาดเล็กอย่าง iPhone และ iPad จะยังคงใช้งานพอร์ต Lightning เช่นเดิม
เวลาผ่านไปพอร์ตเชื่อมต่อ USB-C ได้เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มอุปกรณ์ขนาดเล็กอย่างโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต นอกจากนี้ยังได้มีการออกอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่เป็น USB-C มาอีกมากมาย แอปเปิลเองก็เริ่มถูกโจมตีว่าผูกขาดมาตรฐานการใช้งานพอร์ต Lightning ทำให้ iPhone ไม่สามารถใช้งานกับอุปกรณ์หรือสายเชื่อมต่ออื่น ๆ ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นที่ฟ้องร้องกันในสหภาพยุโรป (EU) ที่ทำให้แอปเปิลเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นแอปเปิลอาจไม่สามารถจำหน่าย iPhone ในกลุ่มประเทศยุโรปได้อีกต่อไป
ในปี 2018 แอปเปิลได้นำเอาพอร์ต USB-C มาใช้งานกับ iPad Pro เป็นครั้งแรก ทำให้หลายฝ่ายมองว่าวันหนึ่งแอปเปิลเองจะต้องนำเอา USB-C มาใช้กับ iPhone จนในที่สุด ปี 2023 แอปเปิลเองก็ได้เปิดตัว iPhone 15 มาพร้อมกับพอร์ตเชื่อมต่อ USB-C ในที่สุด และปิดฉากการใช้งานพอร์ต Lightning อย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าหลังจากนี้แอปเปิลก็จะเริ่มทยอยเปลี่ยนพอร์ต Lightning ที่ยังคงหลงเหลือในอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กลายมาเป็น USB-C
อย่างไรก็ตามเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพอร์ต Lightning ที่แอปเปิลใช้นั้นถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้ว เนื่องจากถูกใช้งานมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์หลายสำนักกล่าวโจมตีก็คือ แม้ iPhone 15 จะหันมาใช้พอร์ต USB-C แต่ความเร็วในการเชื่อมต่อยังคงจำกัดอยู่ที่ความเร็วของ USB 2.0 เท่านั้น ต้องเป็น iPhone 15 Pro ที่สามารถใช้งานความเร็วแบบ USB 3.0 ได้
เป็นที่น่าจับตามองอย่างมากว่าหลังจากที่แอปเปิลเปลี่ยนการใช้งานพอร์ตเชื่อมต่อมาเป็น USB-C อนาคตของ iPhone จะเป็นอย่างไรต่อไป
ที่มาภาพ: Apple
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
"ซิกมุนด์ ฟรอยด์" เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตและเป็นวิธีอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ แม้ว่าแนวทางและทฤษฎีของ "ซิกมุนด์ ฟรอยด์" จะอยู่ในยุคก่อนการปฏิวัติทางเทคโนโลยี แต่แนวคิดและทฤษฎีนี้ได้ส่งผลต่อวิธีคิดของมนุษย์กับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นมรดกตกทอดทางความคิดที่ชวนให้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของ "ซิกมุนด์ ฟรอยด์" และความเชื่อมโยงทางด้านเทคโนโลยี
ผลงานด้านจิตวิทยาที่สำคัญของ "ซิกมุนด์ ฟรอยด์" คือ การสำรวจจิตใจ หรือ "ทฤษฎีจิตไร้สำนึก" เขาคือผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และ 20 โดยทฤษฎีของเขาเชื่อว่าภายใต้ความคิดและการกระทำที่มีสติของคนเรานั้น มีแหล่งสะสมความปรารถนา ความกลัว และความทรงจำเอาไว้มากมาย ซึ่งในบริบทของเทคโนโลยี แนวคิดนี้มีผลกระทบอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของคนยุคใหม่กับอุปกรณ์ดิจิทัล โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตที่เป็นเสมือนแหล่งเปิดเผยแง่มุมที่ซ่อนบุคลิกภาพและความปรารถนาของคนเราไว้ในนั้น
โดยแนวคิดจิตไร้สำนึกของซิกมุนด์ ฟรอยด์สามารถทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเราถึงสนใจแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เนื้อหา หรือสินค้าออนไลน์บางรูปแบบ และทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงความต้องการทางจิตวิทยาที่ลึกที่สุดของเรา ส่งผลให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถเรียนรู้พฤติกรรมและความสนใจของเรา จากนั้นจึงได้นำเสนอเนื้อหาเดิมหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่เราสนใจเพิ่มมากขึ้น
แนวคิดที่ควบคู่มากับจิตไร้สำนึก คือ แนวคิดการปราบปราม ซึ่งเป็นกลไกทางจิตวิทยาที่จิตใจผลักดันความคิดและความทรงจำที่ไม่ดีหรือก่อให้เกิดความไม่สบายใจเข้าสู่จิตไร้สำนึกเพื่อปกป้องตัวตนอันมีสติ ซึ่งในยุคดิจิทัล ผู้คนมักใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเบี่ยงเบนความสนใจหรือหลีกหนีจากอารมณ์หรือความคิดที่ไม่สบายใจเหล่านั้น โซเชียลมีเดีย วิดีโอเกม และบริการ Streaming ต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นรูปแบบการปราบปรามสมัยใหม่ ช่วยให้หลีกเลี่ยงการเผชิญกับความขัดแย้งได้ชั่วคราว
"ซิกมุนด์ ฟรอยด์" ให้ความสำคัญกับความฝันในฐานะที่เป็นหน้าต่างสู่จิตใต้สำนึก โดยในบริบทสมัยใหม่ การโต้ตอบของเรากับเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ตโฟน ได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตในยามตื่นและโลกแห่งความฝันไม่ชัดเจน การแจ้งเตือนข้อความต่าง ๆ รบกวนกิจวัตรประจำวันของเราและบุกรุกจิตใต้สำนึกของเรา เหมือนกับที่ความฝันแทรกแซงการนอนหลับของเรา การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถช่วยให้เราจัดการผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อรูปแบบการนอนหลับ สุขภาพจิต และความเป็นอยู่โดยรวมของเราได้
แนวคิดและทฤษฎีของ "ซิกมุนด์ ฟรอยด์" ยังมีอีกมากมาย โดยที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างแนวคิดและทฤษฎีของนักประสาทวิทยาผู้ทรงอิทธิพลในอดีตที่ให้มรดกตกทอดทางความคิดที่มีคุณค่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของเรากับเทคโนโลยี จากบทบาทของจิตไร้สำนึกในพฤติกรรมดิจิทัลของมนุษย์ ไปจนถึงวิธีที่เทคโนโลยีเป็นรูปแบบหนึ่งในการปราบปราม
แนวคิดของ "ซิกมุนด์ ฟรอยด์" ช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเข้าใจพลังทางจิตวิทยาที่มีบทบาทในโลกดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น และแม้ว่าเทคโนโลยีจะยังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แนวคิดของซิกมุนด์ ฟรอยด์จะยังคงมีความเกี่ยวข้องในการวิเคราะห์และสำรวจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างจิตใจของมนุษย์และโลกดิจิทัลต่อไป
ที่มาข้อมูล: thriveworks, britannica, simplypsychology, iep
ที่มาภาพ: freud
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech