วันนี้ (22 พ.ย.2567) นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการตรวจสอบและพิจารณาความผิดเกี่ยวกับผู้ได้รับการจัดที่ดิน และผู้ถือครองที่ดินโดยมิชอบในเขตปฏิรูปที่ดิน พร้อมคณะทำงานประกอบด้วย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน. (ปปง.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่สวนท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังได้รับข้อมูลและการร้องเรียนว่า พื้นที่ดังกล่าวอาจเข้าข่ายรุกที่ ส.ป.ก.
จากการตรวจสอบพบ สถานที่ดังกล่าวเปิดให้บริการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรวัฒนธรรมมีสิ่งปลูกสร้างถาวร ภายในมีสระน้ำขนาดใหญ่ 2 บ่อ รวมถึงมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว เช่น ให้อาหารและเลี้ยงช้าง มีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวจีน มีการเก็บค่าเข้าชม ซึ่งทันทีที่มาถึงผู้ดูแลสถานที่ซึ่งเป็นหุ้นส่วนเจ้าของพื้นที่ได้เข้ามาต้อนรับคณะทำงานพร้อมนำชี้จุดและชี้แจงข้อมูลการได้มาซึ่งการครอบครองของที่ดิน
คณะทำงานตรวจสอบ ชี้แจงว่า เหตุผลที่เดินทางมาตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวเนื่องจาก พบข้อมูลว่า อาจเข้าข่ายใช้ประโยชน์จากที่ดินผิดวัตถุประสงค์
นายธนดล เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า ที่ดินจำนวน 150 ไร่ เคยออกเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดินแบบ สปก.ก่อนจะสละสิทธิ์ไป 80 ไร่ เพื่อ ขอใช้ที่ดินแบบสนับสนุนกิจการเกี่ยวเนื่อง บริเวณอาคารที่ใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเลี้ยงช้างทำให้พื้นที่ดังกล่าว ยังไม่มีการจัดสรรที่ดินจาก สปก.ทำให้ไม่มีสิทธิ์นำไปใช้ทำประโยชน์ใด ๆ ได้ แต่ทางเจ้าของพื้นที่อ้างว่า ตัวเองอาศัยสิทธิ์การทำประโยชน์ในที่ดิน ตามเอกสารสิทธิ์ครอบครอง แบบ สค.1
ด้านผู้ดูแลพื้นที่ เปิดเผยว่า พื้นที่ทั้งหมด เจ้าของที่ดินยืนยันว่า เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ สค.1 ซึ่งเจ้าของปัจจุบัน ได้รับที่ดินผืนดังกล่าวมาจากมรดกของพ่อแม่และมีการไปยื่นขอออกใบ สค.1 ช่วงระหว่างปี 2497 - 2498 ส่วนการตรวจสอบที่ดินผืนดังกล่าว ก็ต้องให้เจ้าของที่ดินนำเอกสารสิทธิ์มาชี้แจง
สำหรับการตรวจสอบหลังจากนี้ เจ้าของพื้นที่จะต้องนำ สค.1 ไปยื่นขอออกโฉนด โดยกรมที่ดินจะตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถออกโฉนดได้กี่ไร่ และที่ดินส่วนที่เหลือจะต้องเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายของ ส.ป.ก.
อ่านข่าว : ร้องสอบ จนท.ป่าไม้ หลอกโอนสิทธิที่ดิน สปก.
กมธ.ที่ดินลงพื้นที่เขาใหญ่ จับตาความขัดแย้ง “อุทยานฯ-สปก.”
ส.ป.ก.-อุทยานฯ ทับซ้อน 190 แห่งพื้นที่ 5.2 แสนไร่
วันที่ 21 พ.ย.2567 อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ ชี้แจงกรณีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชมรมคนรักภูสอยดาว ระบุว่า ในช่วงวันที่ 16-17 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ไปขึ้นภูและไปเที่ยวน้ำตกสายทิพย์ แต่พบว่าน้ำน้อยมาก และเมื่อนำมาล้างหน้าแล้วพบว่าน้ำมีกลิ่น จึงอยากทราบแหล่งที่มาของน้ำ
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ชี้แจงว่า น้ำที่สูบขึ้นมาใส่ถังพักเพื่อปล่อยลงมาให้นักท่องเที่ยวอุปโภคนั้น ได้สูบน้ำมาจากบริเวณต้นน้ำและนำมาพักไว้ที่ถังเก็บน้ำหลังห้องน้ำและห้องอาบน้ำบนเนิน ไม่ได้สูบน้ำจากบริเวณหลังห้องน้ำ ส่วนสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำ ห้องสุขา มีการจัดเก็บโดยระบายลงบ่อเกรอะที่อยู่บริเวณหลังห้องสุขา ไม่ได้ปล่อยลงลำธาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าช่วงฤดูแล้งอาจมีเศษใบไม้หรือซากสัตว์ตาย ทำให้บริเวณน้ำตกสายทิพย์มีกลิ่นทับถมที่ไม่พึงประสงค์ได้ อีกทั้งนักท่องเที่ยวบางคนฝ่าฝืนทิ้งเศษอาหารและขยะลงลำธาร จนเกิดการหมักหมม หรือนักท่องเที่ยวบางคนปัสสาวะลงน้ำตก เมื่อน้ำเริ่มแห้งจึงเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์
น้ำที่ไหลลงมาน้ำตกสายทิพย์ เป็นน้ำธรรมชาติลำธารเดียวกับจุดสูบน้ำลงมาให้นักท่องเที่ยวอุปโภค
ส่วนข้อสงสัยว่าน้ำดื่มจากตู้กดน้ำหยอดเหรียญมาจากแหล่งใดนั้น ทางอุทยานฯ อธิบายขั้นตอนระบบกรองน้ำสำหรับการบริโภค โดยสูบน้ำสะอาดจากต้นน้ำขึ้นมาเก็บบนถังพักน้ำ เพื่อรอตกตะกอน จากนั้นจะปล่อยน้ำดิบจากถังพักน้ำมาสู่ถังกรองน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 3 ถัง ที่บรรจุคาร์บอนแอนทราไซท์ และเรซิ่น
จากนั้นผ่านกระบอกกรองน้ำขนาด 20 นิ้ว จำนวน 4 กระบอก ประกอบด้วย ไส้ pp 2 กระบอก ไส้คาร์บอน 1 กระบอก และไส้เรซิ่น 1 กระบอก กรองระบบรีเวิสออสโมซิส ro ซึ่งเป็นการกรองละเอียดระดับ 0.0001 ไมครอน จากนั้นนำไปเก็บไว้ที่ถังเก็บน้ำสำหรับบริโภค (ถังใหญ่สีฟ้า) ก่อนนำไปบริโภคจะมีการกรองผ่านไส้กรอง pp จากตัวเครื่องกดน้ำหยอดเหรียญอีกครั้ง
อ่านข่าว : ตั้งกรงดักจับ "หมีควายเขาใหญ่" ตะปบชาวบ้านเจ็บสาหัส
เตรียมหารือแนวทางลดความยาวงา "ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์"
ไทยเตรียมส่งคืน "ลีเมอร์-เต่าหายาก" 963 ตัวให้มาดากัสการ์
วันที่ 19 พ.ย.2567 เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือนายก้าว อายุ 75 ปี หลังถูกหมีควายจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตะปบบริเวณใบหน้า และมีบาดแผลฉกรรจ์ โดยนำส่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (19 พ.ย.) ในพื้นที่ หมู่ 14 บ้านเนินสูง ต.เนินหอม อ.เมืองปราจีนบุรี อยู่ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าบอน
ชาวบ้าน เล่าว่า เห็นผู้บาดเจ็บเดินเท้าออกมาจากป่า สภาพเลือดเต็มใบหน้า ก่อนจะหมดแรงล้มลง จึงรีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยให้มาช่วยเหลือ
จากการสอบถาม ทราบว่า ผู้บาดเจ็บเข้าไปเก็บข่ายดักปลา และถูกหมีควายตัวใหญ่เข้ามาทำร้าย จึงพยายามต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด โดยหมีควายตะปบใบหน้าจนล้มลง ก่อนจะหนีเข้าป่าไป
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เบื้องต้นแจ้งเตือนชาวบ้านให้ระมัดระวัง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมักจะมีสัตว์ป่า โดยเฉพาะหมีควายลงมาหาอาหารอยู่เป็นประจำ หากชาวบ้านจะเข้าไปในพื้นที่ป่ารกร้าง
นอกจากนี้ ประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้แจ้งลูกบ้านห้ามเข้าไปใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุ พร้อมทั้งนำกรง 2 กรง ไปวางดักในพื้นที่ที่ชาวบ้านพบร่องรอย หรือพบเห็นบ่อยครั้ง ล่าสุดยังไม่สามารถจับหมีควายได้
อ่านข่าว : DSI เข้าเรือนจำ สอบปากคำ 11 บอสชายดิไอคอน
รถกระบะขนแรงงานเมียนมาชนเสาไฟฟ้า เสียชีวิต 7 คน
ปศุสัตว์ชี้คนวางยา "แมว" ซีรีส์ดัง ไม่ใช่สัตวแพทย์ เอาผิดทารุณกรรม
วันนี้ (20 พ.ย.2567) สัตวแพทย์ เปิดเผยความคืบการดูแล "ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์" หลังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ จ.ลำปาง มากว่า 1 ปี 4 เดือน หลังเดินทางจากประเทศศรีลังกา มาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2566 และผ่านขั้นตอนการกักตัว เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ก่อนจะย้ายเข้ามาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง จนถึงปัจจุบัน
ล่าสุดงาช้างที่ยาวของช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ เริ่มส่งผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกาย อาจจะต้องลดความยาวของงาช้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากับภาคส่วนต่าง ๆ
อ่านข่าว : ไขคำตอบ ทำไม "พลายศักดิ์สุรินทร์" งายาว
นายสัตวแพทย์ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ จ.ลำปาง เปิดเผยว่าที่ผ่านมาได้รักษาอาการขาหน้าด้านซ้าย มีอาการเหยียดตึง ทั้งฉายรังสีเอ๊กซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงอัลตร้าซาวด์ การตรวจวัดการเดิน ทั้งใช้เครื่องมือและดูด้วยตาเปล่า พร้อมกับให้ช้างออกกำลังกายเบา ด้วยการเดินทางตรง การว่ายน้ำ และการประคบร้อนด้วยลูกประคบหรือการใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องนวดด้วยคลื่นความถี่สูง, เลเซอร์ อาการโดยรวมต่างดีขึ้น
แต่ล่าสุดพบว่างาช้างที่ยาวมากส่งผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกายช้างโดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อส่วนหัวลำคอ ที่ช้างต้องเชิดหัวเดินตลอดเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาอาจารย์หมอ ส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประชุมวางแผนการที่จะลดความยาวของงาช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการส่งผลกระทบ ต่อโครงสร้างร่างกาย
สำหรับพลายศักดิ์สุรินทร์ มีอาการเจ็บป่วยทั้งภายในและภายนอกร่างกาย โดยตาด้านขวามีอาการคล้ายต้อกระจก ขาหน้าด้านซ้ายมีอาการเหยียดตึงและผิดรูป และการทำงานของไตบกพร่อง ซึ่งการรักษาที่ผ่านมาพบว่าเป็นที่น่าพอใจ ผลการรักษาเป็นไปในทางที่ดี แต่ขาหน้าซ้ายยังไม่สามารถงอได้เต็มที่ ซึ่งทีมสัตวแพทย์ยังคงรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าว : DSI เข้าเรือนจำ สอบปากคำ 11 บอสชายดิไอคอน
ผู้ก่อเหตุลอบวางเพลิง-ก่อความไม่สงบ หลายพื้นที่ จ.ยะลา - ปัตตานี
เลือดสำรองเริ่มขาดแคลนทั่วประเทศ ชวนร่วมบริจาค "โลหิต"
วันนี้ (19 พ.ย.2567) ซากพะยูนที่ถูกผ่าชันสูตร ตัวแรกเป็นพะยูนที่พบ เกยตื้นบริเวณท่าเรือเกาะปู ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ส่วนตัวที่ 2 พบซากบริเวณหาดสบาย ทางทิศตะวันตกของเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง
ทั้ง 2 ตัวเป็นพะยูนเพศเมีย ช่วงวัยรุ่น ความยาววัดได้ 186 ซม. และ 185 ซม. ที่น่าสนใจคือทั้ง 2 ตัว มีความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม โดยเฉพาะตัวที่พบในทะเลตรัง อยู่ในเกณฑ์ "ผอมผิดปกติ" ในกระเพาะอาหารของทั้ง 2 ตัวมีหญ้าอยู่เพียงเล็กน้อย ลักษณะภายนอกพบรอยพฤติกรรมฝูงบริเวณหลัง มีเพรียงเกาะทั่วลำตัว ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์ หรือ แผลจากเครื่องมือประมง
การผ่าอวัยวะภายใน ตัวแรก พบกล้ามเนื้อบริเวณคอบวมน้ำ มีน้ำสีแดงใสในถุงหุ้มหัวใจ ก้อนคล้ายไขมันพอกหัวใจ พบก้อนลักษณะเป็นลิ่มสีเหลือง มีเศษทรายภายในหลอดลม เนื้อเยื่อปอดสีไม่สม่ำเสมอและมีเลือดคั่ง คาดป่วยจากภาวะก้อนลิ่มอุดตันหัวใจ ป่วยเรื้อรังจากภาวะปอดผิดปกติ ทำให้สัตว์อ่อนแอและจมน้ำตาย
ตัวที่ 2 พบอวัยวะส่วนใหญ่เน่าสลาย ไม่สามารถระบุรอยโรคได้ชัดเจน มีเพรียงเกาะมาก ผอมผิดปกติ คาดว่าป่วยเรื้อรัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ และอาหารในกระเพาะของทั้ง 2 ตัว ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นความสูญเสียทรัพยากรชายฝั่ง เพราะพะยูนทั้ง 2 ตัว เป็นพะยูนเพศเมีย อยู่ในช่วงวัยรุ่น หมดโอกาสจะขยายพันธุ์
ตัวเลขการตาย-การเกยตื้น สอดคล้องกับตัวเลขการลดลงของหญ้าทะเล พบว่าช่วงปี 2566-2567 มีแนวโน้มพบ พะยูนผอม และมีชั้นไขมันลดลง ซึ่งบ่งชี้ได้ว่า "ขาดสารอาหาร" ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แบ่งระดับความอ้วนผอมของพะยูนเป็น 5 ระดับ ตามดัชนีเรียกว่า Body Condition Score (บอดี้ คอดิชั่น สกอร์) หรือ BSC โดยดูจากรอยคอดบริเวณลำคอ และกล้ามเนื้อแนวสันหลัง
ในช่วงปีนี้มีพะยูนอย่างน้อย 5 ตัว ที่ตายด้วยสภาพซูบผอม โดยเฉพาะพื้นที่เกาะมุกเกาะลิบงที่หญ้าทะเลหายไปเกือบทั้งหมด ข้อมูลการพบพะยูนที่ยังมีชีวิตในสภาพผอม ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือ เช่น การให้อาหารเสริมในธรรมชาติ
ทีมข่าว TheEXIT ตรวจสอบเส้นทางการซื้อขายซากพะยูน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบตัดชิ้นส่วนที่มีราคา จากซากพะยูนตาย ที่เกยตื้น เช่นเดียวกับกรณีพบซากพะยูนถูกตัดหัว ในคดีล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต การซื้อขายลักษณะนี้ยังคงอยู่ในกลุ่มเครื่องราง ของขลัง และเป็นการซื้อขายตามใบสั่ง ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
"กะโหลกพะยูน-เพศผู้" ชิ้นนี้ ทีมข่าว TheEXIT บันทึกไว้เมื่อ 10 ปีก่อน พบเป็นการตั้งขาย ที่ตลาดแห่งหนึ่ง ใน จ.สงขลา ราคา 28,000 บาท และตัดแบ่งขายได้ตั้งแต่ชิ้นละ 200 บาทไปจนถึงหลักพันบาท
การตั้งขายอย่างโจ่งแจ้งในครั้งนั้น ตำรวจเข้าตรวจค้นนำหลักฐานไปตรวจสอบ พบว่าเป็น "ซากพะยูน" ที่ตายมาแล้วมากกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ "พะยูน" ยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้
แต่ยืนยันได้ว่า "ความเชื่อ เรื่องของขลัง" จากซากพะยูน มีอยู่จริง
อีกคดีเป็นคดีที่เกิดขึ้นในเดือน เม.ย.2565 เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 นำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องหาหญิงคนหนึ่ง ที่บ้านพักใน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง หลังได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบขายฟันปลาพะยูนจำนวน 3 ชิ้น ในราคา 3,000 บาท
ทีมข่าว สอบถามไปยังหัวหน้าชุมจับกุม ได้รับคำตอบว่า คดีนี้ผู้กระทำความผิด ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน รอลงอาญา 1 ปี ปรับ 150,000 บาท แต่ไม่สามารถขยายไปถึงขบวนการค้าตามใบสั่งได้
และนี่คือคดีล่าสุดที่เกิดขึ้นใน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต วันที่ 15 พ.ย. พบ "ซากพะยูน" ภายในคลองตำบลป่าคลอก ลักษณะถูกของมีคมตัดขาด ตั้งแต่กระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นแรก และเป็นการตัดขณะเป็นซากแล้ว เจ้าหน้าที่ชุดเหยี่ยวดง เชื่อว่า ตลาดซื้อขายซากพะยูนตอนนี้ มีมูลค่าสูง อย่างเขี้ยวอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท กระดูกคออยู่ที่ 30,000 บาท เป็นแรงจูงใจมากพอให้ผู้พบซาก ตัดสินใจกระทำความผิด
The EXIT ตรวจสอบการซื้อขายในตลาดออนไลน์ พบว่า ในกลุ่มเครื่องราง ของขลัง ยังมีการโพสต์ขายเป็นระยะ อย่างโพสต์นี้ ประกาศขาย "หมูเด้ง" แกะจากกระดูกพะยูน แต่เมื่อจะสอบถามราคา พบว่าได้ปิดการขายไปแล้ว การโพสต์ลักษณะนี้ ยังพบเห็นในอีกหลายเพจ เจ้าหน้าที่ระบุว่า ต้องนำไปตรวจสอบยืนยันว่า เป็น "กระดูกพะยูน" จริงหรือไม่ และได้มาอย่างไร
ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน ในฐานะผู้ติดตามปัญหาให้ข้อมูลว่า การซื้อขายในออนไลน์ ส่วนใหญ่พบเป็นการกระทำความผิดที่ไม่ได้มาจากการล่า
The EXIT ตรวจสอบสถิติสัดส่วนการกระทำความผิดเกี่ยวกับพะยูนเกยตื้น โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ประเภทการกระทำความผิดต่อซากพะยูน พบว่าร้อยละ 59 มีการลักลอบนำเนื้อพะยูนไปกิน รองลงมาคือ ตัดเขี้ยว ตัดหัว และขโมยกระดูก
อ่านข่าวอื่น :
เร่งฟื้นฟู "หญ้าทะเล" วิกฤต "พะยูน" ตาย 5 ตัวในเดือนเดียว
วันนี้ (19 พ.ย.2567) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมการส่งคืนสัตว์ป่าของกลางจำนวน 963 ตัว ได้แก่ ลีเมอร์หางวงแหวน ลีเมอร์สีน้ำตาล เต่าแมงมุม และเต่าลายรัศมี ซึ่งจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และเป็นสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ พบได้เฉพาะในสาธารณรัฐมาดากัสการ์ กลับคืนประเทศถิ่นกำเนิด
สัตว์ของกลางดังกล่าว เป็นคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) จับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติได้เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญรับโอนคดีเป็นคดีพิเศษ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 บก.ปทส.ได้รับแจ้งจากสายลับว่า มีการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ผ่านทางอินโดนีเซียเข้ามาทาง จ.สตูล จึงได้ตรวจค้นรถยนต์ 4 คัน บริเวณ จ.ชุมพร จับกุมผู้ต้องหาได้ 6 คน พร้อมของกลางเป็นลีเมอร์และเต่าบก รวม 1,117 ตัว/ซาก
คดีนี้ถือว่าเป็นการจับกุมสัตว์ป่าต่างประเทศจำนวนมากที่มาจากสาธารณรัฐมาดากัสการ์ ทำให้รัฐบาลมาดากัสการ์ให้ความสำคัญ จึงได้มอบหมายให้ Mr. Max Andonirina FONTAINE รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เดินทางมาตรวจสอบสัตว์ป่าของกลางดังกล่าว ณ สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี พร้อมหารือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย
ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงยุติธรรม มีมติเห็นชอบให้ส่งคืนสัตว์ป่าของกลางจำนวน 963 ตัว ได้แก่ ลีเมอร์หางวงแหวน จำนวน 16 ตัว, ลีเมอร์สีน้ำตาล จำนวน 32 ตัว, เต่าแมงมุม จำนวน 760 ตัว และเต่าลายรัศมี มีชีวิตจำนวน 155 ตัว กลับสู่สาธารณรัฐมาดากัสการ์ โดยแบ่งการขนส่งเป็น 3 รอบ คือ วันที่ 28, 30 พ.ย. และวันที่ 2 ธ.ค.2567 โดยสายการบินกาตาร์แอร์เวย์
ทั้งนี้ มีกำหนดจัดงานพิธีส่งมอบ-รับมอบสัตว์ป่าของกลางไปยังสาธารณรัฐมาดากัสการ์ ในวันที่ 27 พ.ย.2567 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นสักขีพยานส่งมอบสัตว์ป่าของกลางดังกล่าวให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณรัฐมาดากัสการ์
อ่านข่าว : เจาะเส้นทางค้า "ลีเมอร์" สัตว์ป่าหายากมาดากัสการ์
สกัดแก๊งค้าสัตว์ข้ามชาติ ยึด "ลีเมอร์-เต่า" กว่า 1 พันตัว
วันนี้ (18 พ.ย.2567) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง เปิดผลชันสูตร ซากพะยูนเกยตื้นที่ท่าเรือเกาะปู จ.กระบี่ พบพะยูนมีร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม ภายนอกมีเพรียงเกาะทั่วลำตัว ไม่มีแผลฉกรรจ์หรือแผลจากเครื่องมือประมง ส่วนการตรวจอวัยวะภายใน พบข้อสังเกตหลายอย่างเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภายในหัวใจห้องบนขวาและล่างขวา มีก้อนลักษณะเป็นลิ่มสีเหลือง เนื้อเยื่อปอด มีสีไม่สม่ำเสมอและมีเลือดคั่ง ในกระเพาะพบอาหารจำพวก "หญ้าทะเล" เล็กน้อย น้ำหนักประมาณ 500 กรัม เป็นต้น
สรุปสาเหตุการตาย คาดว่าป่วยจากภาวะก้อนลิ่มอุดตันในหัวใจ ร่วมกับป่วยเรื้อรังจากภาวะปอดผิดปกติ ทำให้สัตว์อ่อนแอและจมน้ำตาย
สอดคล้องกับ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งข้อสังเกตถึงพะยูนตัวนี้ แหล่งอาหารของพะยูนอย่าง "หญ้าทะเล"
มีสาระสำคัญว่า เดิมเกาะปู จ.กระบี่ มีหญ้าทะเลหลายพันไร่ แต่ตอนนี้โลกร้อนจึงเหลือแต่ตอ พะยูนจึงไม่มีอาหารกิน ทีมวิจัยคณะประมงฯ ลงไปแปลงต้นพันธุ์หญ้าทะเลที่นั่น ซึ่งหญ้าสมบูรณ์ดีและกำลังขยายแปลง แต่กลับพบข่าวร้าย คือการตายของพะยูนเพศเมียที่มีสภาพผอมโซเป็นพะยูนตัวที่ 5 ในเดือน พ.ย. รวมทั้งปีมีพะยูนตายแล้ว 36 ตัว ซึ่งในระยะเวลา 2 ปี พบพะยูนตายถึง 76 ตัว
อาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลจังหวัดกระบี่ เชื่อว่า พะยูนตัวล่าสุดน่าจะอดอาหารตาย เพราะพื้นที่ที่พบซาก คือ บริเวณเกาะปู รวมถึงพื้นที่เกาะจำ และ เกาะศรีบอยา เคยเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ แต่ตอนนี้กว่าร้อยละ 90 หญ้าทะเลตาย จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล
ข้อมูลที่น่าสนใจ พบพะยูนตายถี่ขึ้น เฉพาะเดือน พ.ย.นี้ พบพะยูนตายแล้ว 5 ตัว ในทะเลฝั่งอันดามัน ตัวแรก พบซากวันที่ 3 พ.ย. มีอาการป่วยเรื้อรังจากภาวะขาดอาหารเป็นเวลานาน เฉพาะรอบสัปดาห์นี้พบตายแล้ว 3 ตัว ทั้งที่ป่าคลอก จ.ภูเก็ต, เกาะลิบง จ.ตรัง, และล่าสุดเกาะปู จ.กระบี่ ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่เหล่านี้เดิมล้วนเป็นแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน
ปัญหาเรื่องแหล่งหญ้าทะเล แหล่งอาหารของพะยูนเสื่อมโทรม ทำให้ส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พยายามฟื้นฟูบริเวณบ้านแหลมไทร อ.สิเกา จ.ตรัง โดยใช้วิธีล้อมคอกแปลงทดลองหญ้าทะเล ป้องกันสัตว์ทะเลเข้าไปกัดกิน ซึ่งเริ่มทดลองตั้งแต่ 5 เดือนที่แล้ว พบว่าหญ้าที่อยู่ในคอกเจริญเติบโตดี ต่างจากหญ้าทะเลที่อยู่นอกคอกกั้น พบใบสั้น และถูกสัตว์ทะเลกัดกิน มองว่าวิธีการล้อมคอกฟื้นฟูหญ้าทะเลได้ผล เพราะได้หญ้ากลับคืนมา และเตรียมขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ
ส่วนที่ "เกาะลิบง" อ.กันตัง จ.ตรัง ที่เคยเป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูน เมื่อปี 2566 เคยนับได้กว่า 180 ตัว ที่บริเวณหน้าหอชมพะยูน ช่วงใกล้เขาบาตูปูเต๊ะ คือ จุดชมพะยูนที่นักท่องเที่ยวมาแล้วจะได้เห็นแทบทุกวัน เพราะตรงนี้มีหญ้าคาทะเล หรือ หญ้าชะเงาใบยาว ปกคลุมจนเขียวทั่วบริเวณ
แต่ปัจจุบัน สภาพเป็นหาดทรายสีคล้ำ ไม่มีหญ้าทะเลหลงเหลือ ทำให้พะยูนอพยพเป็นจำนวนมากประมาณต้นปี 2567 บางกลุ่มอพยพไปถึงอ่าวนางกระบี่ บางกลุ่มไปถึงทะเลสตูล และอาจไปไกลถึงมาเลเซีย
สันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง บอกว่า รอบเกาะลิบง เกาะมุกด์ มีหญ้าทะเลเสื่อมโทรม จนหญ้าตายไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ การสำรวจพะยูนพบน้อยมากไม่ถึง 10 ตัว ตอนนี้การช่วยเหลือเร่งด่วน คือ "ผักทดแทน" ที่เอาลงไปให้แต่ก็เจอปัญหาว่า เต่าทะเล เข้ามาแย่งกิน
หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ไม่ได้กระทบเฉพาะพะยูน เพราะหญ้าทะเล ถือเป็นระบบนิเวศแห่งหนึ่งแยกออกจากป่าชายเลน ชายฝั่ง หรือ แหล่งปะการัง ชาวเกาะลิบงที่ทำอาชีพประมงมีรายได้กว่า 20 ล้านบาท/ปี จากการจับ หอยชักตีน ปูม้า และปลา ในแหล่งหญ้าทะเลในช่วงน้ำลง และการท่องเที่ยวระดับชุมชนปีละหลายสิบล้านบาทก็หายไปด้วย เพราะไม่มีพะยูนให้ดู
อ่านข่าวเพิ่ม :
ปชน.เปิดตัว 12 ผู้สมัครนายก อบจ. "ณัฐพงษ์" ไม่กังวล "ทักษิณ" ช่วยหาเสียง
"จรูญเกียรติ" ขอเวลา 10 วัน สรุปอีก 3 คดี "กฤษอนงค์"
"ควีนทวีป" ความหลากหลาย MU 2024 หรืออยุติธรรมของ Top 5
ความคืบหน้ากรณีฝูงลิงกว่า 300 ตัว ซึ่งเป็นโซนกรงลิงมโนราห์หลุดออกจากกรงที่ 3 ภายในสถานอนุบาลสัตว์เทศบาลเมืองลพบุรี ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองลพบุรี บางส่วนปีนป่ายไปบ้านเรือนประชาชนใกล้เคียง บางส่วนบุกโรงพัก สภ.ท่าหิน ซึ่งมีพื้นที่อยู่ติดกับสถานอนุบาลสัตว์ฯ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุดเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองลพบุรี ตามจับลิงกลับมาได้แล้ว 86 ตัว จากทั้งหมดที่มีอยู่ภายในกรงกว่า 350 ตัว ซึ่งสาเหตุเกิดจากตาข่ายเก่าของกรงลิงเดิมที่ก่อสร้างมาเมื่อ 5-6 ปีก่อนหน้า ทนแรงโยกของลิงไม่ไหวจนหลุดเป็นช่อง ทำให้ลิงหลุดจากกรง
ขณะที่เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองลพบุรี ได้ซ่อมแซมและอุดรอยรั่วแล้ว พร้อมแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามจับลิงที่เหลือเข้ากรง คาดใช้เวลา 2-3 วัน โดยจะนำกรงใส่อาหารไปวางตามจุดต่าง ๆ เพื่อดักลิงและนำกลับเข้ากรงให้ได้มากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสังเกตพบว่าลิงที่หลุดจากกรง ส่วนใหญ่ไม่ได้หนีไปไกล แต่ยังเดินวนอยู่รอบ ๆ กรงลิง บางส่วนจะพยายามกลับเข้ากรงเองในช่วงที่เจ้าหน้าที่นำอาหารและน้ำมาให้
ลิงบางตัวเมื่อได้ยินเสียงเรียกจากพระ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีความคุ้นชินกันเวลานำอาหารและน้ำมาให้ ก็จะเดินกลับมาเข้ากรงเองโดยไม่ต้องไล่จับ
นอกจากนี้ เทศบาลเมืองลพบุรี ขอความร่วมมือประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ ต.โพธิ์เก้าต้น ใกล้สถานอนุบาลสัตว์ฯ หากพบเลิงหลบซ่อนอยู่ตามบ้านเรือนและต้นไม้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สถานอนุบาลสัตว์ หรือที่สวนลิง
อ่านข่าว : ป่วนทั้งเมือง "ลิงลพบุรี" หลุดศูนย์อนุบาลโพธิ์เก้าต้น 100 ตัว
ดีเดย์ 24 พ.ค.ปิดเมืองจับลิงลพบุรีล็อตใหญ่ 300 ตัว
"หมอล็อต" ชี้ลิงลพบุรีสุขภาพแย่ เครียด-ขี้เรื้อน-ขาดอาหาร
วันนี้ (17 พ.ย.2567) กรณีชาวบ้านแจ้งพบลิงนับ 100 ตัวทั้งขนาดเล็กแลขนาดใหญ่จากกรง C จากสถานอนุบาลสัตว์โพธิ์เก้าต้น จ.ลพบุรี ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จับจากพื้นที่เขตเมืองไปดูแลเพื่อแก้ปัญาเดือดร้อนรำคาญเมื่อ 5 เดือนก่อน
โดยพบว่าลิง 50-100 ตัวบางส่วนบุกไปที่สภ.ท่าหิน ซึ่งอยู่ใกล้กับกรงมากที่สุด อีกส่วนหนึ่งบุกไปยังบ้านเรือนประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้กับกรงลิง ไปนั่งอยู่บนหลังคา ปีนสายไฟ บางส่วนก็ไปหาของกิน และวิ่งข้ามถนนไปมาตลอดเวลา
เหตุการณ์ที่ลิงหลุดออกมา เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองลพบุรี ใช้รถกระเช้าขึ้นไปซ่อมแซมกรง C ที่เสียหาย พร้อมแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามจับลิงที่เหลือเข้ากรงคาดว่า จะใช้เวลา 2-3 วัน เนื่องจากมีลิงจำนวนมาก
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองลพบุรี จะนำกรงดักจับลิงพร้อมอาหารมาวางตามจุดต่างๆ เพื่อนำลิงกลับเข้ากรงให้ได้มากที่สุด แต่เป็นไปด้วยความทุลักทุเล และพยายามนำกรงและอาหารมาล่อ แต่ลิงยังไม่หลงกล ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้วางกรงเล็กดักจับไว้ คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) จะนำลิงที่หลุดออกมากลับเข้ากรงได้หมด
ขณะที่ล่าสุดมีลิงบางตัวพยายามกลับเข้ากรง เนื่องจากทุกวันอาทิตย์ ทางวัดเสาธงทอง พระอารามหลวง จะนำอาหารมาเลี้ยงลิง ทำให้ลิงมีความคุ้นชิน และมีลิงกลับเข้ากรงแล้วกว่า 40 ตัว
สำหรับลิงทั้งหมดในกรง C เป็นลิงที่ถูกจับมาได้จาก บริเวณสวนราชา หน้าพระราชวังนารายณ์ แยกเซ่งเฮง ทั้งนี้ชาวบ้านกังวลว่าลิงที่หลุดออกไม่ได้จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
สำหรับการจับลิงของกรมอุทยานฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีลิงกว่า 2,000 ตัว ลิงกรงที่ 3 มีกว่า 300 ตัว หลุดออกจากกรงไปกว่า 100 ตัว
ส่วนการก่อสร้างที่พักพิงลิง เฟส 2 ภายในสวนลิง เพื่อจับลิงที่เหลือให้มาอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 19 มิ.ย. 2568 โดยมีงบประมาณกว่า 26 ล้านบาท มีเทศบาลเมืองลพบุรี เป็นผู้รับผิดชอบ
อ่านข่าว
ดีเดย์ 24 พ.ค.ปิดเมืองจับลิงลพบุรีล็อตใหญ่ 300 ตัว
"หมอล็อต" ชี้ลิงลพบุรีสุขภาพแย่ เครียด-ขี้เรื้อน-ขาดอาหาร
เปิดแผนจับลิงลพบุรี ล็อต 2 ตั้งเป้าจับลิง 800 ตัว ใน 10 วัน
วันนี้ (16 พ.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำทะเลบริเวณหาดเก้าเส้ง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา ระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร ยังมีคราบสีดำปรากฏให้เห็น โดยคราบสีดำดังกล่าวไหลออกจากคลองสำโรง ซึ่งเป็นคลองเชื่อมต่อกับอ่าวไทย โดยมีคำยืนยันว่าไม่ใช่น้ำมันดิบ
ก่อนหน้านี้ มีการโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า คราบสีดำที่เห็นเป็นคราบน้ำมัน จนนำมาสู่การตรวจสอบในเวลาต่อมา
นางคนึงนิจ ศรีสมัย ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า น้ำสีดำไม่มีกลิ่นเหม็น เป็นน้ำเสียที่ไหลออกจากคลองสำโรง ซึ่งเป็นผลมาจากฝนตกหนักและทะเลมีคลื่นลมพัดตะกอนทรายที่กั้นปากคลองออกไป เมื่อหลังฝนตกและน้ำทะเลลดลงจึงทำให้น้ำจากคลองไหลลงทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือน พ.ย.ของทุกปี จากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ส่วนการจัดการคุณภาพน้ำ อากาศและเสียง ลงพื้นที่สำรวจเก็บตัวอย่างน้ำ 3 จุด เพื่อทดสอบค่าความสกปรกที่ห้องปฏิบัติการ พบว่ามีค่าความเป็นกรด-ด่าง ค่าออกซิเจน ค่าการนำไฟฟ้าและค่าความเค็ม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน
อ่านข่าว
คุมตัวโรฮิงญากว่า 100 คนลอบขึ้นฝั่งพังงา ยังไม่ชัดเส้นทางเข้าไทย
เชียงรายยังไม่ฟื้นจากน้ำท่วม "หลวงพ่อพบโชค" ฝากนายกฯ ช่วยกระตุ้น ศก.
กรณีศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบซากพะยูนถูกตัดหัวตายลอยขึ้นอืด อยู่บริเวณใกล้ท่าเทียบเรือบ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก
วันนี้ (15 พ.ย.2567) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า จากการตรวจสอบว่าเป็นพบเป็นพะยูนตัวผู้ อยู่ในช่วงโตเต็มวัย ความยาวลำตัว 2.23 เมตร ไม่รวมส่วนหัว น้ำหนักประมาณ 250 กก. สภาพซากเน่ามาก ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ผอม
ผลชันสูตรพบว่าส่วนหัวที่ถูกตัดออกไป ถูกตัดหลังจากพะยูนตายแล้ว เป็นรอยของมีคมตัดโดยรอบส่วนคอ และส่วนหัวหายไป ตัดขาดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นแรก
นอกจากนี้พบว่า พะยูนตัวนี้ มีร่างกายที่ผอม ไม่แข็งแรง ในกระเพาะอาหารพบอาหารน้อยมาก และมีขยะพลาสติก แต่ไม่ใช่สาเหตุการตาย รวมทั้งพบรอยแผลจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงเกาะตามร่างกายอาจจะนอนนิ่ง ๆ มาระยะหนึ่ง พบรอยแผลถลอกโดยรอบร่างกาย และพบรอยรัดบริเวณครีบข้างด้านขวา
ส่วนจะเป็นของมีคมชนิดไหนที่นั้นยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เป็นรอยที่ถูกตัดหลังจากที่ตายแล้ว
ขณะนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหมายให้ทช.และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประสานงานกันทำงานเรื่องนี้ ซึ่งกรมอุทยานฯ ส่งทีมเหยี่ยวดง ลงพื้นที่ไปประสานกับทางตำรวจ สืบสวนว่ากระบวนการซื้อขายเขี้ยวพะยูนที่ล่าเพื่อค้าหรือไม่
สิ่งที่น่าห่วง คือพะยูนการขาดแคลนอาหาร จากการสูญเสียแหล่งหญ้าทะเล ตอนนี้มีพะยูนอพยพมาที่จ.ภูเก็ต 30 ตัวและใน 3 พื้นที่มีความเสี่ยงจากเรือ เครื่องมือประมง จึงมาตรการคุ้มครอง ควบคุมความเร็วเรือ และให้ท้องถิ่นช่วยในการเฝ้าระวัง
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเชื่อมโยงพะยูนที่ตายในเคสอื่นๆ 10 ตัวหรือไม่ นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า มี 1 ตัวที่ตายจากการถูกเชือกรัด และส่วนใหญ่มีสภาพร่างกายขาดอาการ ไม่แข็งแรง และมี 1 ตัวที่พยายามเลื่อยเขี้ยวแต่ไม่สำเร็จ และตอนนี้ต้องหาคนที่ทำผิดมาให้ได้ เพราะยังเชื่อว่ากลุ่มคนและประมงส่วนใหญ่ยังอนุรักษ์พะยูน
ส่วนตัวไม่เคยเห็น หรือสัมผัสเขี้ยวพะยูนมาก่อน และไม่อยากให้คนมีค่านิยมผิด ๆ หรือแค่หาตัวคนทำผิดมาลงโทษ เพราะโจทย์ใหญ่ต้องการให้เกิดเชิงรุกในการเซฟพะยูนที่เหลืออยู่
ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ส่งชุดเหยี่ยวดงลงไปร่วมแกะรอยขบวนการลักลอบล่าพะยูนแล้ว พร้อมทั้งขอความร่วมมือ ผู้ใดพบเห็นหรือมีเบาะแสคนตัดหัวพะยูน สามารถแจ้งข้อมูลทางลับได้ที่หมายเลข 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล (มีรางวัลหากจับตัวได้)
รวมทั้งแจ้งเตือนว่าผู้ที่ครอบครองพะยูน ซากชิ้นส่วนของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์น้ำชนิดแรกของประเทศไทย ที่ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน หากผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนมีโทษตาม พ.ร.บสงวน พ.ศ.2562 โทษหนักกว่าเดิม
โดยมาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง มาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าสงวน ชากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าสงวนจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 300,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับซากพะยูนตัวนี้ เป็นซากพะยูนตัวที่ 3 ของเดือนพ.ย.นี้
กรณีผู้ก่อเหตุ 5-7 คน พร้อมอาวุธปืนและมีด บุกเข้าไปในหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สน.2 (วาริช-พรรณนา) บ้านกุดตะกาบ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 3 คนจับมัดมือมัดเท้า ปล้นไม้พะยูงของกลาง 20 ท่อนมูลค่า 800,000 บาท และปืนหลวง 2 กระบอกเหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจคุมตัว ส.อ.เทพตะวัน หรือ อาท อดีตพนักงานราชการ กรมป่าไม้ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ที่ถูกออกได้ในข้อหาปล้นไม้พะยูง ปล้นปืนในหน่วยป่าไม้ที่สกลนคร ไปชี้จุดทำเเผนประกอบคำรับสารภาพ หลังจากนั้นไปขอศาลฝากขัง
อ่านข่าว จับแล้ว! "อาท พนง.ป่าไม้" ออกหมายจับอีก 2 ปล้นไม้-ปืนหลวง
พ.ต.อ.อัษดิน สมศรี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า จากการสอบปากคำนายอาท ยังให้การภาคเสธ ระบุว่าวันเกิดเหตุจอดรถอยู่บนถนนหน้าหน่วยป่าไม้ เเต่อ้างว่าไม่ได้ตามเข้าไปในหน่วย
ส่วนเจ้าของรถกระบะ เเละทำหน้าที่ขับรถเข้าไปขนไม้ในคืนเกิดเหตุ ให้การซัดทอดไปถึงผู้ร่วมขบวนการว่า การปล้นมีหลายคนเกี่ยวข้องโดยเเบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า การบุกปล้นครั้งนี้มีการจัดฉาก หรืออาจจะมีคนในบางคนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
ขณะนี้ผู้ที่ถูกออกหมายจับอีก 1 คนที่เป็นกู้ภัยยังหลบหนี นอกจากนี้ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน เตรียมขออนุมัติศาลออกหมายจับเพิ่มอีก 3 คน
รวมทั้งได้ยึดรถยนต์ที่ใช้ก่อเหตุปล้น ตรวจหารอยนิ้วมือแฝง ดีเอ็นเอ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนที่มีเบาะเเสกลุ่มคนร้าย หรือมีข้อมูลแหล่งที่รับซื้อไม้พะยูงแจ้งเบาะแสกับตำรวจ
อ่านข่าว
กรมป่าไม้ ตั้งกก.สอบหน.หน่วยถูกซัดทอดคดีปล้นพะยูง
เร่งล่า 5 ผู้ก่อเหตุปล้นไม้พะยูง-ปืน-ไม่ตัดทิ้งคนในเอี่ยว
วันนี้ (15 พ.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า ช่วงเย็นวันที่ 14 พ.ย.ว่า พบซากพะยูนตายลอยขึ้นอืด อยู่บริเวณใกล้ท่าเทียบเรือบ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
อ่านข่าว : ทช.ชี้ 24 วัน “พะยูน” ตาย 8 ตัว ผลชันสูตรร่างกายผอมขาดอาหาร
นักวิชาการ และทีมอาสาสมัครการ์เดียนออฟไลฟ์ ออกตามหาจนพบซากช่วงเย็นวันที่ 15 พ.ย.ออกตรวจสอบ และเก็บซากพะยูนตัวดังกล่าว โดยพบภาพที่สะเทือนใจคือเป็นพยูนขนาดตัวเต็มวัยและส่วนหัวหายไป โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Theerasak Saksritawee ระบุว่า
เกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว กับ ซากพะยูนไร้หัว ท่าเรือบางโรง ภูเก็ตต้องจริงจังเต็มกำลังกับเรื่องนี้แล้วสิ
พร้อมขอความร่วมมือหลาย ๆ อย่าง จากทุก ๆ คน ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องช่วยดูแลพวกเขาให้ปลอดภัยด้วย ใครอยากมาช่วยเป็นอาสาสมัครนักวิทยาศาสตร์พลเรือนก็สามารถติดต่อมาร่วมงานกันได้ และตอนนี้ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลดผลกระทบต่อพวกเขาให้มากที่สุดเพราะสถานการณ์ถึงขั้นวิกฤต จึงอยากขอความร่วมมือละเว้นการลอยกระทงลงทะเล
เบื้องต้นซากพะยูนยังไม่รู้เพศ สภาพถูกตัดหัว เหลือเพียงลำตัวยาวไปถึงหาง ขึ้นอึดและเริ่มเน่าเปื่อย คาดตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4-5 วัน เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันนำซากพะยูนขึ้นรถพยาบาลสัตว์ทะเลหายากของศูนย์นำกลับไปยังกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เพื่อผ่าพิสูจน์ว่าพะยูนตาย เพราะป่วยหรือถูกจับแล้วตัดหัวจนตาย
อ่านข่าว ผลชันสูตร "พะยูนถูกตัดหัว" ถูกของมีคมตัดหลังตาย
โดยเจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.ถลาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนว่าใครเป็นคนตัดหัวพะยูนตัวดังกล่าว เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าการตัดหัวพะยูนนั้นต้องการเขี้ยว เพื่อนำไปทำเครื่องลางของขลังตามความเชื่อ
ขณะที่เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ของนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ว่ากรณีพบซากพะยูนถูกตัดหัวขาด บริเวณท่าเรือบางโรง ม.3 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
พะยูนถูกตัดหัวเอาเขี้ยว ในรอบ 7 วันโดนไปแล้ว 2 ตัว อยากบอกง่าย ๆ ว่าไอ้ชั่ว
แหล่งข่าว จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเคยมีเรื่องของการตัดหัวพะยูนเพื่อนำเขี้ยวและน้ำตาพะยูนไปทำเสน่ห์ ซึ่งในช่วงนั้น ทช.ต้องออกมารณรงค์และวางแผนปกป้องพะยูนในพื้นที่ทะเลตรัง ขณะที่เหตุการณ์ในรอบนี้พบมีพะยูนตายในลักษณะถูกตัดหัว 2 ตัวใน จ.ภูเก็ต
ประเทศไทย มีความเชื่อโบราณเกี่ยวกับ "เขี้ยวพะยูน" และ "น้ำตาพะยูน" ซึ่งเชื่อว่ามีพลังป้องกันภัยและให้โชคลาภ ผู้คนบางกลุ่มมักนิยมนำเขี้ยวพะยูนมาเป็นเครื่องราง และเก็บน้ำตาพะยูนไว้เพื่อใช้ในพิธีกรรมเสริมความเป็นสิริมงคล อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมนี้ทำให้เกิดการลักลอบล่าพะยูนและอาจเป็นภัยต่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ให้ข้อมูลว่าพะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายากที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากภัยคุกคามจากการล่าและสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย ทางกรมฯ ได้ออกมาตรการป้องกันและขอความร่วมมือจากประชาชนให้งดการเก็บหรือครอบครองซากพะยูน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อการดำรงชีวิตของพะยูนในธรรมชาติ
นอกจากนี้ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พะยูนได้เผยแพร่ข้อมูล ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของพะยูนในระบบนิเวศ รวมถึงได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการสนับสนุนการดูแลและฟื้นฟูประชากรพะยูนในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ทั้งนี้เพื่อลดความเชื่อผิด ๆ ที่อาจเป็นภัยต่อตัวพะยูนและส่งผลเสียต่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำหายากนี้
อ่านข่าวอื่น :
ภูเก็ต "งดลอยกระทงลงทะเล" ห่วงกระทบ "พะยูน"
ตื่นตา! แม่ลูกพะยูนว่ายโชว์ตัว วางทุ่นชะลอความเร็วเรือ
วันนี้ (14 พ.ย.2567) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์พะยูน และร่วมกันติดตั้งทุ่นกำหนดชะลอความเร็วในการเดินเรือ เขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล บริเวณอ่าวบางขวัญ ใกล้กับสะพานสารสิน
หลังจากพบพะยูน อพยพมาหากินหญ้าทะเล เนื่องจากในบริเวณนี้มีหญ้าทะเลค่อนข้างสมบูรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับพะยูน ที่เข้ามากินอาหาร จากการติดตามตรวจสอบพบว่า มีพะยูนประมาณ 6–7 ตัว จึงต้องควบคุมพื้นที่และหาแนวทางป้องกัน โดยระหว่างใช้อากาศยานไร้คนขับ บริเวณจุดชมวิวอ่าวป่าคลอก จากการสำรวจพบพะยูนคู่แม่-ลูกกำลังว่ายน้ำ
อ่านข่าว ทช.ชี้ 24 วัน “พะยูน” ตาย 8 ตัว ผลชันสูตรร่างกายผอมขาดอาหาร
นอกจากนี้ ยังพบเจ้าหลังขาวใหญ่ พะยูนที่มากินบริเวณหญ้าท่าเรือราไวย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนที่มาเฝ้าดู พร้อมกับบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย
นายอรรถพล กล่าวว่า จากการสำรวจเขตพื้นที่อนุรักษ์ จ.ตรัง ไม่ว่าจะเป็นอุท ยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลิบง เดิมเป็นพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจพบว่าหายไปกว่า 20,000 ไร่ มากกว่า 50% เป็นเรื่องที่น่ากังวล
ส่วนการทำคอกบริบาลพะยูนป่วย ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลือกบริเวณหาดราไวย์ กับหาดบางขวัญ นำร่อง ก่อนจะดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่อ่าวพังงาเป็นพื้นที่แหล่งพะยูนได้มีการอพยพมาด้วย
อ่านข่าว ไขคำตอบ “ทะเลรวน” ลดฮวบ 30 ซม.หญ้าทะเลตาย-พะยูนย้ายบ้าน
นายวินัย ราวงษ์ กำนันตำบลโคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา กล่าวว่า ขณะนี้พบพะยูนค่อนข้างบ่อยบริเวณหมู่ที่ 7 กับ หมู่ 11 และถือเป็นเรื่องใหม่ของคนในพื้นที่ จึงต้องการให้หน่วยงานเข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้าน เกี่ยวกับการดูแลพะยูนมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่า เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา มีพะยูนตายบริเวณในทะเลบ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง แต่ยังไม่พบซาก ช่วงเช้านี้ จึงออกค้นหาใหม่ ทั้งในทะเลและการใช้โดรนบิน นับเป็นตัวที่ 4 ของจังหวัดภูเก็ต ในช่วง 2–3 เดือนนี้
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ขณะนี้ตั้งคณะทำงานในการประสานงาน จัดตั้งทีมอาสาสมัคร และชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังคุ้มครองพะยูน จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์การจำกัดการสัญจรหรือลดความเร็วเรือ และแผนที่เส้นทางหรือแหล่งอาศัยพะยูน ให้ประชาชน ชุมชนชายฝั่ง และผู้ประกอบการเดินเรือได้รับทราบ
และหลีกเลี่ยงการทำประมงบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหรือพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูน เพื่อป้องกันไม่ให้พะยูนติดอวนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดจนงดเว้นการเดินเรือผ่านแหล่งหญ้าทะเล หรือหากจำเป็นต้องใช้เส้นทาง ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต ในส่วนกรณีหากพบเห็นพะยูนบาดเจ็บหรือเกยตื้นตายฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล โดยการปลูกหญ้าทะเลในพื้นที่ที่กำหนด
อ่านข่าวอื่นๆ
5 วัน "พะยูน" ตาย 4 ตัว ตั้งวอร์รูมคุมเข้ม 11 จุด 3 จังหวัดอันดามัน
"ออมสิน" ออกสินเชื่อบ้าน ดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 1.89% ต่อปี
COP29 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) เปิดฉากไปแล้วที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 – 22 พ.ย. 2567 มีผู้นำกว่า 200 ประเทศรวมทั้งไทยเข้าร่วมหารือ คาดว่า กว่าจะได้ข้อสรุปคงอาจใกล้วันปิดประชุม
COP หมายถึงการประชุมพหุภาคีของ UN แต่ที่โด่งดังที่สุด เป็นเรื่องการหารือวิกฤตโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีปณิธานจะร่วมกันลดโลกเดือดร่วมกัน ทั้งประเทศมหาอำนาจ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล ไปจนถึงหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่เป็นฝ่ายได้รับผลกระทบ กำหนดให้จัดครึ่งปีละครั้ง โดยครั้งแรก (COP1) จัดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี แต่ที่ผู้คนรู้จักมากที่สุดคือ COP3 ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการตกลงรับ "พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal)" ว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
โดยประเด็นในการประชุมครั้งที่ 29 นี้ เน้นหนักไปที่ การจัดทำเป้าหมายทาง การเงินใหม่ (the New Collective Quantified Goal) หรือ "NCQG" ว่าด้วยการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาด้านงบประมาณลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หมายให้ประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
คำถามที่ตามมา คือ การต้องทุ่มงบประมาณระดับมหาศาลเพื่อเรียกร้องให้เกิดการตระหนักและเอาใจใส่ มีนัยบ่งชี้ถึงปัญหาของการปฏิบัติตามข้อตกลง COP หรือไม่? รวมไปถึง "ความคุ้มค่า" ที่ต้องจ่ายไปในการทุเลาโลกเดือดนั้นเป็นอย่างไร?
ข้อเรียกร้องของ COP แม้จะเข้าใจได้ว่าต้องการสร้างภาคีให้หันมาสนใจประเด็นโลกเดือด และมีการวางหลักการและการบังคับใช้อย่างมหาศาล
ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2030 ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ความต้องการให้ใช้พลังงานทดแทนปิโตรเลียม เช่น พลังงานไฟฟ้าจากน้ำหรือลม หรือการกำหนด "คาร์บอนเครดิต" เก็บสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซอื่น ๆ ที่ทำอันตรายต่อบรรยากาศโลก
กระนั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องของ "ความสมัครใจ" ไม่ได้วางบทลงโทษไว้อย่างเป็นทางการ ดังนั้น แรงขับเคลื่อนและแรงจูงใจของการปฏิบัติตามข้อตก ลงใน COP จึงมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย เห็นได้จากสหรัฐอเมริกา ที่สมควรเป็นมหาอำนาจและแบบอย่างในการรักษ์โลก แต่กลับไม่อภิรมย์ต่อประเด็นนี้ในสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์
อีกอย่างหนึ่ง การลดสภาวะโลกเดือดยังไม่สามารถสร้างตนเองเป็นให้เป็น "บรรทัดฐาน" หรือ "คุณค่า" ในการระหว่างประเทศอย่างราบรื่น ชนิดที่ว่าไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือบทลงโทษ แต่ละประเทศก็ยินยอมพร้อมใจที่จะกระทำตามแต่โดยดี เช่น สนธิสัญญาเจนีวาว่าด้วยการไม่ทำภยันตรายต่อ "บุคลากรและยานพาหนะทางการพยาบาล" ในภาวะสงคราม หรือกล่าวได้ว่า ตอนนี้ COP เป็นเวทีที่สร้าง "เสือกระดาษ" ที่หลักการและข้อบังคับฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังคงมีคำถาม ว่าเกิดการยอมรับและเต็มใจที่จะทำตามหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การที่ COP เรียกร้องเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก พลังงานทดแทน หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนสารพัด แต่กลับมีปัญหาด้าน "การจัดสรรงบประมาณ" ไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ไม่มีศักยภาพทางการคลังมากพอที่จะทำตามข้อตกลงลดโลกเดือดได้ โดยส่วนมากมักเป็นประเทศแถบแอฟริกาและเอเชีย ที่กำลังพัฒนาประเทศขึ้นมาด้วยการเปิดรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนัก หรือเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉลี่ย งบประมาณของแต่ละประเทศที่ต้องใช้ในการจัดการกับโลกเดือด อยู่ที่ราว ๆ ร้อยละ 16-18 ของจีดีพี ซึ่งอัตราดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อประเทศมหาอำนาจหรือประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมระดับสูง แต่ในประเทศที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจหรือกำลังถูกสปอร์ตไลท์จับ ถือว่ากระทบอย่างมาก
เพราะการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง หรือ FDI ในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 7-12 ของจีดีพีประเทศ ซึ่งเม็ดเงินตรงนี้ยังต้องกระจายออกไปยังการจัดทำงบประมาณแผ่นดินและการกำหนดนโยบายอื่น ๆ ตามมาอีกมหาศาล
หมายความว่า จะเกิด "ส่วนต่างของความคุ้มค่า" ขึ้น เพราะการลดโลกเดือด มีการคาดการณ์ว่า จะต้องใช้งบประมาณมากโขระดับ 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละปีเพื่อที่จะทำให้โลกไม่เดือดขึ้นไปมากกว่านี้ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของจีดีพีโลก เฉลี่ยแต่ละประเทศต้องจ่ายเงินเพื่อการนี้กว่า 336,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแทบจะเทียบเท่าหรือมากกว่าจีดีพีของประเทศเหล่านี้เสียด้วยซ้ำไป
รายงานจาก the Independent High-Level Expert Group on Climate Finance ปี 2022 ชี้ว่า กว่า 2 ใน 3 ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอยู่ในช่วงรายได้ปานกลางและปานกลางค่อนข้างต่ำ ประสบปัญหา "เป็นหนี้จากการลดโลกเดือด" และส่วนใหญ่นั้นจะเป็น "หนี้เสีย" ที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด ดังนั้น การทุ่มงบประมาณระดับสูงเพียงเพื่อ "ยื้ออุณหภูมิ" ของโลกไว้ รัฐบาลภายในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ต้องคิดหนักอย่างมากต่อการใช้จ่ายในประเด็นดังกล่าว
ต้องไม่ลืมว่า ประเทศกำลังพัฒนา ถึงแม้จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมาในอัตราเร่งที่สูงมาก แต่ "ปริมาณ" ที่ปล่อยนั้นนับว่ายังน้อยกว่าประเทศมหาอำนาจและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับสูงอยู่ไม่น้อย เช่น สหรัฐฯ และจีน ปล่อย CO2 รวมกันในอัตราร้อยละ 36 ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปล่อย CO2 รวมกันเพียงอัตราร้อยละ 11 ซึ่งน้อยเกินกว่า 3 เท่าตัว
จะเห็นได้ว่า ปัญหาหลักของ COP นอกเหนือจากเรื่องการยังไม่สามารถตั้งมั่นตนเองเป็นบรรทัดฐานในการระหว่างประเทศ รวมถึงมีปัญหาด้านการเรียกร้องงบประมาณการลดโลกเดือดอย่างเกินกำลังประเทศดาวรุ่งพุ่งแรง เรื่องนี้ ใช่ว่า COP จะไม่ตระหนักใด ๆ
เนื่องจาก COP29 ในปี 2024 นี้ ได้รับสมญานามว่า "COP ทางการเงิน" หมายความว่า การหารือที่เกิดขึ้นในกรุงบากูนี้ จะเน้นหนักไปที่เรื่องของ "การให้ความช่วยเหลือ" ด้านงบประมาณลดโลกเดือดแก่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นสำคัญ จากแต่เดิมที่ประเทศมหาอำนาจช่วยเหลือประเทศดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจในงบประมาณส่วนนี้ ราว ๆ 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
World Economic Forum ได้เสนอให้เห็นข้อได้เปรียบของ COP29 ในด้านการเน้นหนักที่งบประมาณและการเงินไว้ 5 ประการ ดังนี้
แม้จะมีการเปิดเผยความช่วยเหลือทางด้านการเงินอย่างมีหลักการใน COP29 แต่คำถามที่ตามมา คือ การให้เงินสนับสนุนตรงนี้ เป็น "การให้แบบมีเงื่อนไขกำกับ" ที่เพิ่มมากขึ้นจากแบบเก่า ที่รับก็คือนำมาใช้อย่างเต็มสตรีมหรือไม่เต็มสตรีมก็ได้ แต่แบบใหม่คือ หากรับมาแล้วทำไม่เต็มสตรีม จะส่งผลถึงการให้งบประมาณในปีถัดไปได้
ดังนั้น รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา หากมีความคิดแบบ "เป็นเหตุเป็นผล" จริง ๆ ย่อมต้องคิดหนักไม่น้อยกับการรักษ์โลกและลดโลกเดือดนี้
ปัญหาด้านการเงินก็ส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าประเทศที่เป็น "นายทุน" ให้แก่สมาชิก COP นั้น หนีไม่พ้นสหรัฐฯ โดยเม็ดเงินสนับสนุน 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็มาจากแนวทางของ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
การก้าวขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ ในสมัยที่ 2 นี้ กลับมีคำถามสำคัญที่ตามมา คือ แม้จะมีหลักการ NCQG ที่บังคับกลาย ๆ ให้มหาอำนาจช่วยเหลือทางการเงินด้านการลดโลกร้อนและแก้ไขสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่การไม่ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าวของทรัมป์ รวมถึงการถอนตัว ไม่เข้าสังฆกรรมกับ COP จะส่งผลให้ "เงินถุงเงินถัง" หายไปหรือไม่
และเมื่อจำนวนเงินหายไป แรงขับเคลื่อนและแรงจูงใจในการลดโลกร้อนของประเทศดาวรุ่งพุ่งแรงและกำลังพัฒนาจะยังคงอยู่ หรือสูญสลายและหันกลับไปมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับเทพเจ้ายังอายอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
ประเด็นนี้ การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของ ทรัมป์ ที่เชิดชูแคมเปญ America First ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็นคำตอบ
แหล่งอ้างอิง
Trump’s shadow looms at climate summit: what COP29 could deliver, Finance for climate action: Scaling up investment for climate and development, World Economic Forum, CGD
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดฉาก COP 29 "ภูมิอากาศ" เงิน เงิน เงิน กับโลกหนาว ๆ ร้อน ๆ
COP29 ผลักดันพลังงานสะอาด สร้างตลาด "ไฮโดรเจน"
ไทยวางกรอบเจรจา COP29 ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 43%
กรณีตำรวจจับ ส.อ.เทพตะวัน หรือ อาท สุริยมาตย์ 1 ใน 5 แก๊งปล้นไม้พะยูง ปล้นปืน พบว่าเป็นพนักงานราชการของกรมป่าไม้ และออกหมายจับอีก 2 คนหลังก่อเหตุปล้นไม้พะยูงมูลค่ากว่า 800,000 บาท และปล้นปืนของหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สน.2 (วาริช-พรรณนา) บ้านกุดตะกาบ จ.สกลนคร
อ่านข่าว จับแล้ว! "อาท พนง.ป่าไม้" ออกหมายจับอีก 2 ปล้นไม้-ปืนหลวง
วันนี้ (13 พ.ย.2567) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ถึงการออกหมายจับ 1 ในผู้ก่อเหตุ เป็นพนักงานราชการของกรมป่าไม้ ที่เคยทำงานในหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สน.2 มาก่อน จึงได้ให้ออกจากราชการไว้ก่อน
พร้อมกำชับสั่งการให้เร่งติดตามการดำเนินคดีร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่จับกุมได้และขยายผลต่อไป ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ ได้กำชับให้ดูแลสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ให้ดี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
อ่านข่าว ด่วน! ออกหมายจับ แก๊งปล้นปืน-ไม้พะยูง เป็น พนง.ราชการป่าไม้
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เก็บรักษาไม้ของกลางทั่วประเทศ โดยเฉพาะไม้ของกลางที่เป็นไม้มีค่า 6 ชนิด ได้แก่ ชิงชัน พะยูง ประดู่ มะค่า สัก แดง ซึ่งห้ามจำหน่าย ต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันไม้ของกลางให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องเก็บไว้ในอาคารปิดล็อกอย่างมิดชิด มีการจัดเวรยามเฝ้า 24 ชั่วโมง พร้อมติดกล้องวงจรปิด หากเกิดเหตุกรณีเช่นนี้อีก หรือเกิดการสูญหายของไม้ของกลางผู้รับผิดชอบจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย
อ่านข่าว เร่งล่า 5 ผู้ก่อเหตุปล้นไม้พะยูง-ปืน-ไม่ตัดทิ้งคนในเอี่ยว
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปลดล็อกการจำหน่ายไม้ของกลาง ตามที่กรมป่าไม้ ได้เสนอเรื่องมา เพื่อให้หน่วยงานของ ทส. สามารถจำหน่ายไม้ของกลางได้
นอกเหนือจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เพื่อให้สามารถระบายไม้ของกลางที่มีการเก็บรักษาไว้เป็นจำนวนมากออกไปได้ ทั้งยังเป็นการป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้ ป้องกันการสูญหาย และเป็นการนำรายได้กลับคืนเข้าสู่รัฐอีกด้วย
นายสุรชัย กล่าววถึงกรณีที่มีข่าวว่า นายอาท อดีตพนักงานที่ถูกจับในคดีซัดทอดหัวหน้าหน่วยสน.2 ว่า เป็นอำนาจของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหัวหน้าหน่วย ซึ่งเป็นการทำงานคู่ขนานให้ตำรวจสามารถขยายผลไปยังบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีปล้นไม้พะยูง
ถ้าผิดจริงต้องสอบสวนขยายผล และดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะกรมป่าไม้จะไม่เอาคนผิดไว้แน่นอน เรื่องนี้ให้ตำรวจทำงานเต็มที่จะไม่ปกป้องคนผิด
ส่วนเรื่องการเสนอให้ขายไม้ของกลางที่สิ้นสุดคดี ทั้งไม้สัก ไม้พะยูง ไม้มะค่า และอื่น ๆ ที่อยู่ในความดูของกรมป่าไม้ได้ดำเนินการมากว่า 1 ปีแล้ว ขั้นตอนตรงนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติมาแล้ว รวมทั้งฝ่ายกฎหมายช่วยดูรายละเอียด
เนื่องจากพบว่า ขณะนี้มีปริมาณไม้ของกลางในคดีที่สิ้นสุดมากกว่า 100,000 ท่อน/แผ่น คิดเป็นปริมาตรไม้ 10,000 ลบ.ม. และอีกกว่า 1 ล้านท่อน/แผ่นที่ยังไม่สิ้นสุดคดีปริมาตรไม้กว่า 20,000 ลบ.ม.พบว่านอกจากจะมีปัญหาเรื่องสถานที่จัดเก็บ และบางส่วนตากแดดตากฝน กลายเป็นของกลางที่เสี่ยงต่อการนำไปขายเหมือนเคสปล้นไม้พะยูงที่ จ.สกลนคร
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเปิดให้หน่วยราชการขอนำไม้ที่สิ้นสุดคดีไปใช้ประโยชน์ เช่น ซ่อมแซมอาคาร ซึ่งจะมีการนำเสนอฝ่ายกฎหมายช่วยดูแล ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าจะนำเอาไปวนขาย
อ่านข่าว
เคาะ One Map สางที่ดิน ทส.ชงพ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์เข้าครม.12 พ.ย.
วันนี้ (13 พ.ย.2567) ตำรวจ กก.5 บก.ปทส., อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ตรวจสอบโรงงานรีไซเคิลโลหะ พื้นที่หมู่ 2 ต.นาโคก อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร หลังรับแจ้งว่า โรงงานดังกล่าวเป็นของชาวจีน นำกากอุตสาหกรรมเข้ามาซุกซ่อน และบดย่อย ก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย สร้างความเดือดร้อน
เมื่อไปถึงพบว่า โรงงานได้หยุดงาน ไม่พบกากของเสียอันตราย แต่มีเศษโลหะไม่ทราบชนิด และพบว่าเครื่องจักรถูกเปิดใช้งานแล้ว มีคนไทยมาแสดงตัวเป็นผู้จัดการ แจ้งว่า เจ้าของโรงงานที่แท้จริงชื่อ นาย เลี่ยว ซื่อผิง เป็นคนจีน เริ่มกิจการมาแล้วหลายเดือน ตนไม่ทราบว่ามีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว โรงงานไม่มีการขออนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ข้อหาตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และจะติดตามนายเลี่ยว ซื่อผิง มาเพื่อดำเนินคดีต่อไป พร้อมทั้งกำชับผู้จัดการโรงงานให้ปิดโรงงาน ห้ามดำเนินการโดยเด็ดขาด จนกว่าจะขออนุญาตถูกต้อง
อ่านข่าว : ไฟไหม้ โรงงานรีไซเคิล สระบุรี - จนท.ระดมกำลังเร่งดับเพลิง
สั่งระงับกิจการโรงงานรีไซเคิลขยะไม่มีใบอนุญาตที่ชลบุรี
ไฟไหม้โรงงานรีไซเคิลกระดาษ จ.สมุทรสาคร เร่งคุมเพลิง
ความคืบหน้ากรณีผู้ก่อเหตุ 5-7 คน พร้อมอาวุธปืนและมีด บุกเข้าไปในหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สน.2 (วาริช-พรรณนา) บ้านกุดตะกาบ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 3 คนจับมัดมือมัดเท้า ปล้นไม้พะยูงของกลาง 20 ท่อนมูลค่า 800,000 บาท และปืนหลวง 2 กระบอกเหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา
วันนี้ (12 พ.ย.2567) นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้ตำรวจได้ขอศาลออกหมายจับ ส.อ.เทพตะวัน หรือ อาท สุริยมาตย์ 1 ใน 5 แก๊งปล้นไม้พะยูง ปล้นปืน พบว่าเป็นพนักงานราชการของกรมป่าไม้ สอบเข้ามาทำงานได้ประมาณ 5 ปี เดิมเคยทำงานในหน่วยป่าไม้ที่ สน.2 ที่ถูกปล้นไม้ของกลาง แต่พบมีพฤติการณ์ไม่มาทำงาน และขาดงานบ่อย จึงย้ายออกนอกพื้นที่ไปอยู่ที่จ.อุดรธานี ได้ปีกว่า ๆ
ยืนยันจากหลักฐานว่านายอาท ซึ่งเป็นพนักงานกรมป่าไม้ เป็น 1 ใน 5 ผู้เข้ามาก่อเหตุปล้นไม้พะยูงและไม้ของกลาง แต่ยังขยายผลว่ามีคนอื่นร่วมด้วยหรือไม่
อธิบดีกรมป่าไม้ ยอมรับว่าการที่มีคนในเป็นผู้ก่อเหตุปล้นไม้พะยูงและปืนหลวงเสียเอง ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย และขอให้ตำรวจขยายผล พร้อมขอเตือนคนของกรมป่าไม้ ถ้าเป็นหนอนบ่อนไส้เสียเองจะโดนโทษทางวินัย ถูกไล่ออกและทางอาญาอย่างเด็ดขาด
สำหรับไม้ของกลางที่เหลือในสำนักจัดการป่าไม้ที่ 1-11 สั่งการให้เช็กสต็อกไม้มีค่า เช่น ไม้พะยูง ไม้สัก ไม้ชิงชัน มม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง ซึ่งมีปริมาตรไม้กว่า 10,000 ลูกบาศก์เมตร ขอให้เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังและนำเข้าในพื้นที่ปลอดภัย
สำหรับข้อกล่าวหาที่ตำรวจมีพยานหลักฐานคือ ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน ร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยคนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ในเคหสถาน ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม , ร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน
โดยมีอาวุธหรือร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป , โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ , ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว กักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย , ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร
อ่านข่าว :
เร่งล่า 5 ผู้ก่อเหตุปล้นไม้พะยูง-ปืน-ไม่ตัดทิ้งคนในเอี่ยว
กทม.ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 7 พื้นที่ "เขตหนองแขม" มากสุด
ความคืบหน้าภารกิจการย้าย "พลายดอกแก้ว" 1 ในช้าง 2 เชือกที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ ของนางแสงเดือน ชัยเลิศ ขอให้นำออกจากพื้นที่เข้ามาอยู่ร่มแดนช้าง Tusker Shelter ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.2567
วันนี้ (11 พ.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจร่มแดนช้าง Tusker Shelter อัปเดตภาพประทับใจ หลังช้างพลายดอกแก้ว ของ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ย้ายมาอยู่ที่ Patara Elephant Conservation อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พบว่าภาพควาญช้าง สามารถขึ้นนั่งหลังพลายดอกแก้วได้แล้ว โดยระบุว่า
อ่านข่าว ย้ายสำเร็จ! พลายดอกแก้ว ยอมขึ้นรถมาบ้านหลังใหม่
จากการมองห่าง ๆ สู่การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างช้างกับควาญอันจะนำไปสู่การใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ดูแลกันในระยะยาว เปิดโอกาสให้ช้างได้รับสิทธิอันพึงจะได้ตามสภาพและช่วงวัย
อ่านข่าว "พลายดอกแก้ว" จอมดื้อยิงยาซึมไม่นิ่งรอย้าย 21 ต.ค.
โดยพบว่าควาญช้างที่ขึ้นคอของพลายดอกแก้วก็คือควาญขลุ่ย หรือพ่อขลุ่ย ที่ดูแลน้องกันยา โดยกลุ่มคนรักษ์ช้างและแฟนคลับต่างเข้ามาชื่นชมและให้กำลังใจทีมงาน ที่สามารถทำให้พลายดอกแก้วไว้วางใจได้ภายใน 21 วัน นับจากวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา
ฮิวใจมากๆภาพที่รอคอย พ่อขลุ่ย ขึ้นขี่คอพี่ดอกแก้ว สำเร็จแล้วครับบบ
นอกจากนี้ยังมีข้อความที่ให้กำลังใจ เช่น ว๊าวๆ สุดยอดมากครับพ่อ เป็นเด็กดีของพ่อขลุ่ยนะครับ พี่ดอกแก้ว ความรักความจริงใจสำคัญมากๆ พี่ดอกแก้วรับรู้ได้ การสร้างความคุ้นเคยใส่ใจ ความไว้ใจจนกลายเป็นความเชื่อใจ
ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊ก Apryl Lee ระบุว่า น้ำตาจะไหลกับภาพพี่ขลุ่ยขึ้นคอดอกแก้วได้แล้ว ต่อไปนี้ดอกแก้วจะได้มีชีวิตใหม่ที่ไม่โดดเดี่ยว
ชีวิตจากนี้หนูจะมีคู่หูที่เป็นทั้งเพื่อนและผู้ปกป้องไปตลอดชีวิต อยู่เย็นเป็นสุขในร่มแดนช้างนะครับ สุดหล่อ
สำหรับพลายดอกแก้ว เป็น 1 ในช้าง 2 เชือกที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และสถาบันคชบาลแห่งชาติ ภายใต้การประสานงานของน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา นำออกจากมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ของนางแสงเดือน หลังปมดรามาช้างจมน้ำตาย 2 เชือกจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยพลายดอกแก้ว-พลายขุนเดช เป็นช้างตัวผู้ที่แยกขังเดียว จนมีการประเมินว่าอาจจะฝึกยาก และไม่คุ้นชินกับควาญช้าง
วันนี้ (9 พ.ย 2567) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.ลงพื้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ติดตามโครงการก่อสร้างส่วนจัดแสดง เพื่อรองรับหมีแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ ซึ่งเป็นทูตสันถวไมตรีเชื่อมสัมพันธ์ไทย - จีน ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย – จีน
สำหรับโครงการก่อสร้างส่วนจัดแสดง เพื่อรองรับหมีแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ ซึ่งอยู่ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ มีเนื้อที่ จำนวน 19 ไร่ ใหญ่กว่าสถานที่เดิม 5 เท่าอาจต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี โดยคาดว่าจะงบใช้จำนวน 200 ล้านบาทในการก่อสร้าง
นายเฉลิมชัย กำชับว่า การเตรียมรับหมีแพนด้าจะต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น การก่อสร้างต้องให้ได้มาตรฐานของทางจีน โดยสถานที่ต้องทำให้ใหญ่ เหมาะสมและดีขึ้นกว่าเดิมในทุก ๆ ด้าน ทั้งนี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและเป็นแห่งเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป และเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่า
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยไทยมีพร้อมด้านบุคลากรที่จะดูแลแพนด้าจากประสบการณ์เดิมช่วงที่ดูแลแพนด้าช่วงช่วง หลินฮุ่ยและหลินปิง แต่ต้องพัฒนาต่อ รวมทั้งมีพี่เลี้ยงหมีแพนด้า เป็นไปตามหลักการขององค์การสวนสัตว์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนเลี้ยงและสัตว์เลี้ยง ซึ่งในช่วงที่หมีแพนด้ามาอยู่ที่ไทยก็จะมีพี่เลี้ยงมาด้วย
สำหรับแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้คาดว่าในปี 2568 จะมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกันในวาระครบรอบความสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 50 ปี จากนั้นคาดว่าจะส่งมอบแพนด้ามาไทยในราวปี 2570 หลังส่วนจัดแสดงใหม่เสร็จสมบูรณ์
อ่านข่าว : นายกฯ คุยทูตจีนหนุนส่ง "หมีแพนด้า" ให้สวนสัตว์เชียงใหม่
ปลัด ทส.ยัน "แพนด้ายักษ์" คู่ใหม่มาไทยแน่ปี 68
อดใจรอ! "แพนด้ายักษ์" คู่ใหม่ถึงไทยปี 70