ชาวสะเอียบ เผาหุ่น 3 นักการเมือง ค้าน "เขื่อนแก่งเสือเต้น"

Sat, 7 Sep 2024 11:58:00

วันนี้ (7 ก.ย.2567) ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กว่า 1,000 คนรวมตัวเดินขบวนแห่โลงศพ 3 นักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข และนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาที่หอผีประจำหมู่บ้าน เพื่อทำพิธีสาปแช่ง

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า เป็นเวลานานกว่า 50 กว่าปี ที่ชาวบ้านต้องออกมาต่อสู้ ต้องปกป้องสิทธิในการอยู่อาศัย

เพราะการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน คือบ้านแม่เต้น ดอนแก้ว ดอนชัย รวมแล้วมากกว่า 2,000 ครอบครัว รวมถึงผืนป่าสักทอง ที่ต้องเสียหายอีก 30,000-40,000 ไร่

และตั้งข้อสังเกต การฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่มีมติ ครม.ให้ยุติการก่อสร้างไปแล้ว เพราะมีนักการเมืองบางกลุ่ม หวังผลประโยชน์ จากการก่อสร้างหรือไม่ 

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกผลักดัน ตั้งแต่ปี 2523 และหลังเผชิญการต่อต้านของคนในพื้นที่ ก็ถูกแขวนไว้ มาในปี 2555 รัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบขึ้นมาทบทวน-ศึกษาอีกครั้ง ซึ่งยังคงมีแรงต้านจากภาคประชาชน แต่ก็เกิดเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร ทำให้ต้องชะลอออกไปอีกครั้ง

อ่านข่าว :

ปัดฝุ่น 34 ปี "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ชาวบ้านห่วงกระทบชุมชน-ป่าไม้

ปลุกผี "แก่งเสือเต้น" 30 ปี แก้น้ำท่วมสุโขทัย


“ซีพีเอฟ” แจ้งความดำเนินคดี “ไบโอไทย” กรณี “ปลาหมอคางดำ”

Sat, 7 Sep 2024 08:02:00

วันนี้ (7 ก.ย.2567) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) เปิดเผยว่า หมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ “ซีพีเอฟ” แจ้งความดำเนินคดี กรณี “ปลาหมอคางดำ” ถึง “ไบโอไทย” แล้ว โดยแจ้งว่า เป็นการฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ซึ่งมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้กล่าวหา มีนายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร เป็นผู้รับมอบอำนาจ

ในหมายเรียกแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาเดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ในวันที่ 12 ก.ย.2567 เวลา 13.00 น.

เลขาธิการไบโอไทยให้ข้อมูลว่า เพิ่งได้รับหมายเรียกนี้เมื่อเย็นวานนี้ (วันที่ 6 ก.ย.2567) ที่ผ่านมา (หลังจากประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสงครามพร้อมสภาทนายความเดินทางทางไปยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทเอกชนเมื่อวันที่ 5 กันยายน เพียง 1 วัน)

ที่หัวจดหมายระบุว่า เป็นหมายเรียกครั้งที่ 2 โดยมีเพียงเอกสารแผ่นเดียว “ไม่พบรายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบท้ายหมายเรียกผู้ต้องหา” แต่อย่างใด

เลขาธิการไบโอไทยระบุว่า ได้แจ้งรายละเอียดการได้รับหมายเรียกนี้ แก่ทีมทนายความที่นำโดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ซึ่งได้รับมอบอำนาจ เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้ต่อไป

อ่านข่าว : "ซีพีเอฟ" พร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ต้นเหตุการระบาด "ปลาหมอคางดำ"

ดักจับ "ปลาหมอคางดำ" ในคลองสมุทรปราการ ได้มากกว่า 1 ตัน

ฟ้องเอาผิด “ปลาหมอคางดำ” ระบาด เรียกค่าเสียหาย 2.4 พันล้าน


"ซีพีเอฟ" พร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ต้นเหตุการระบาด "ปลาหมอคางดำ"

Fri, 6 Sep 2024 15:37:00

อ่านข่าว : ฟ้องเอาผิด “ปลาหมอคางดำ” ระบาด เรียกค่าเสียหาย 2.4 พันล้าน

วันนี้ (6 ก.ย.2567) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ส่งข้อมูลข่าวไปยังสื่อว่า หลังจาก กลุ่มชาวประมง จ.สมุทรสงคราม และสภาทนายความ ยื่นฟ้องทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายชดใช้การนำเข้าปลาหมอคางดำ CPF ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เริ่มการริเริ่มแนวคิดการศึกษาตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งยุติความคิดที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้ เมื่อต้นปี 2554 และยืนยันว่าไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด พร้อมเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหา และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ก่อให้เกิดการข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย

สส.ณัฐชา รับแนะเกษตรกรรวมกลุ่มฟ้องแพ่ง

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ สภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อมูลว่า นี่คือวิธีการที่คณะอนุกรรมาธิการ แนะนำให้ประชาชนรวมกลุ่มกันฟ้อง เพราะการดูแลแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

การรวมตัวฟ้องแพ่งครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของชาวบ้านจากจังหวัดสมุทรสงครามเพียงจังหวัดเดียว แต่การระบาดของปลาหมอคางดำ ตอนนี้มี 19 จังหวัดแล้ว โดยกรมประมงได้ออกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่การระบาดปลาหมอคางดำ ปี 2567 ลงวันที่ 14 ส.ค.2567 ไว้ 19 พื้นที่ด้วยกัน ตั้งแต่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี กรุงเทพ นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ นครศรีธรรมราช สงขลา ชลบุรี พัทลุง และ ปราจีนบุรี

แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดแค่ต่อเกษตรกรที่ทำบ่อปลา-บ่อกุ้ง หรือประมงที่ทำให้กระทรวงเกษตรตกเป็นเจ้าภาพหลักที่ถูกเรียกร้องให้จัดการปัญหาเท่านั้น แต่ความเสียหายจากปลาหมอคางดำ ยังเกิดกับ ระบบนิเวศ กับความหลากหลายทางชีวภาพด้วย คนที่อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ จับปลาในห้วยหนองคลองบึง พลอยได้รับผลกระทบ ประชาชนทุกคนเดือดร้อนไปด้วย

ดังนั้น รองประธานอนุกรรมาธิการฯ จึงมองว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ก็ต้องลงมาดูแล ต้องเป็นโจทย์ฟ้อง ในฐานะผู้ดูแทรัพยากรธรรมชาติ แล้วถ้าทำไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบว่าจะคืนทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างไร ซึ่งหลังจากนี้จะมีการรวมตัวกันของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มาร่วมฟ้องด้วย นอกเหนือจากเกษตรกร เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐยังไม่เทคแอกชัน

ด้าน ดร.สันติ แสงเลิศไสว รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้หลักคิดว่า การประเมินมูลค่าความเสียหาย ทำได้ด้วยวิธี

  1. วิเคราะห์ประโยชน์ที่เคยได้รับมีอะไรบ้าง เช่น จับปลาไปขายได้อย่างไร
  2. ผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือคนที่เคยได้รับประโยชน์เป็นใคร
  3. ประเมินมูลค่าความเสียหายในทางเศรษฐศาสตร์
  4. วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ต้องใช้ฟื้นฟูให้กลับมาสภาพเดิม หรือใกล้เคียงเดิม รวมทั้งคิดมูลค่าจากประโยชน์ที่เคยได้รับ และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกับระยะเวลาให้กลับมามีสภาพดังเดิม

สส.ณัฐชา ยังบอกว่า หลังจากนี้จะต้องตามต่อเรื่องการคิดค่าเสียหายจากหน่วยงานภาครัฐให้ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดต่อสิ่งแวดล้อมต่อ แต่ที่ผ่านมา ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เหตุเรือน้ำตาลล่ม การคิดค่าเสียหายของภาครัฐก็ดูจะหละหลวม ประมาณการณ์คร่าว ๆ ทำให้ศาลก็ไม่รับฟัง

แต่ในกรณีปลาหมอคางดำ ณัฐชา บอกว่ามีการประเมินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ประเมินไว้ว่า มูลค่าความเสีย 1 ตำบล 100 ล้านต่อปี ความเสียหาย 10 ปี 10,000 ล้าน แต่หน่วยงานรัฐกลับไม่ทำอะไรเลย กระทั่งประเมินความเสียหายยังไม่ทำ จนประชาชนต้องเดินหน้าทำเอง

เมื่อภาครัฐยังไม่ทำอะไร ก็ไม่น่าแปลกที่เมื่อวานนี้ ทีมสภาทนายความในฐานะตัวแทนชาวบ้านจำนวน 54 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอคางดำ นำสำนวนคดียื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้ง 18 ราย ในความผิดฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

พร้อมขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้ "จำเลย" ประกอบไปด้วย คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ประกาศให้พื้นที่ 19 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่ประสบภัยและประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเพื่อดำเนินการเยียวยาความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ

อ่านข่าว : ดักจับ "ปลาหมอคางดำ" ในคลองสมุทรปราการ ได้มากกว่า 1 ตัน

นโยบายเพื่อไทย จาก "เศรษฐา" ถึง "แพทองธาร"

"6 ทุ่งรับน้ำ" พื้นที่กันชน-กักน้ำ-ระบายน้ำ ของอยุธยา

 


"มารีญา" กับแนวคิดสีเขียว One Health เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

Fri, 6 Sep 2024 11:11:00

การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใคร ๆ ก็พูดได้ แต่จะลงมือทำจริง รณรงค์ สืบหาข้อมูล และชักชวนให้คนทั้งประเทศสนใจ ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมได้มากน้อยแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง "มารีญา พูลเลิศลาภ" ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวคิดที่อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน มองทุกชีวิตรวมเป็นสุขภาพอันหนึ่งอันเดียว หรือที่เรียกว่า "One Health" จะมาไขคำตอบใน "รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" ที่ผ่านมา เธอทำอะไรบ้าง เพื่อทำให้คนไทยได้เห็นว่า นับจากนี้จะช้าไม่ได้อีกแล้ว เพื่อกระทำการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะมนุษย์มีโลกนี้ ใบเดียวเท่านั้น

"มารีญา" อธิบายความหมายของ "One Health" ว่า ทุกอย่างบนโลกใบนี้มีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะสุขภาพของมนุษย์ สุขภาพของสัตว์ทุกชนิด …เมื่อเข้าใจ.. จึงทำให้ตระหนักมากขึ้นกับกิจกรรมกับสิ่งที่ทำ รวมถึงวิธีการใช้ชีวิตในทุกวันในทุกมิติ

"ทุกคนมีโอกาสสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ดังนั้นจึงต้องเริ่มกับตัวเองก่อน คิดว่าสิ่งแวดล้อมของเรามีผลกระทบต่อสุขภาพเรา มันส่งผลกระทบไปถึงคนที่เรารัก ยิ่งทำให้อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง พอเรายิ่งเห็นว่ามันมีผลกระทบต่อสังคม เลยเริ่มเข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกันหมด"

โลกกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต

..ถามว่า.. เรารู้ได้อย่างไรว่าโลกกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ? การแปรปรวนภูมิอากาศ "Climate change" ได้มีการก้าวขีดความจำกัดความปลอดภัยโลกมาหลายอย่าง ข้อมูลจากปี 2020 – 2022 โลกของเราได้เกิดปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน แต่ในปี 2022 กลับเป็นปีที่ร้อนที่สุด เป็นอันดับ 5 ที่เคยถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ทั้งที่การเกิด "ลานีญา" ที่ส่งผลให้ฝนตกมากกว่าปกติแต่กลับสวนทางด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น …ไม่ว่าจะเป็นการเผา รถยนต์ปล่อยควันดำ ภาคอุตสาหกรรม ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ กลายเป็นตัวเพิ่มอุณหภูมิของโลก

ในขณะที่แม่น้ำของเราได้กักเก็บอุณภูมิไว้ 95% เพื่อช่วยสร้างสมดุล แต่กลายเป็นว่าอุณหภูมิน้ำทะเลกลับเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ใต้ท้องทะเล เช่นพื้นที่ป่าแอมะซอนที่เคยเป็นผืนป่าบนโลกที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมดของป่าแอมะซอนได้กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศในปริมาณสุทธิมากกว่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว รวมถึงในประเทศอย่าง สวีเดน เยอรมนี ฟินแลนด์ ที่ในอดีตเคยเป็นประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์ก็กลายเป็นแหล่งคาร์บอนไดออกไซด์ แปลว่า โลกของเราที่เคยสร้างสมดุลเพื่อที่ช่วยเรา ตอนนี้ช่วยไม่ได้แล้ว เพราะมันเลยจุดเกินอันตรายมาแล้ว ไม่สามารถกลับไปจุดสมดุลในเรื่อง Climate Change ได้

ผู้เชี่ยวชาญ ได้มีการคำนวณอุณหภูมิบนโลกใบนี้ ปกติจะมีการขึ้นลงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่จะไม่เคยเกิน 2 องศาเซลเซียส แต่ในปีนี้ผ่านมาแค่ครึ่งปีคาดว่าจะถึง 1.5 องศาเซลเซียส หมายความว่าอาจจะเกิดจุดพลิกผัน ที่ทำให้เกิดน้ำแข็งละลายในกรีนแลนด์ และเกิดปะการังฟอกขาวใต้ท้องทะเลหนักกว่าเดิม จากที่ปัจจุบันในประเทศไทยมีปะการังฟอกขาวมากกว่า 90% ดังนั้น หากอุณภูมิเพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ปะการังอาจจะฟอกขาวทั้งหมด นั่นหมายถึงความหลากหลายทางชีวภาพใต้ท้องทะเลก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไป

"...ถามว่ามันจะกลับมาไหม.. ตอบได้ว่ามันเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะพอเราถึงจุดพลิกผันขีดสุด มันจะเหมือนผลกระทบแบบโดมิโน เปรียบเสมือนร่างกายคน ถ้าเรามีไข้ 40 องศา ถ้าอุณหภูมิร่างกายเราเพิ่มขึ้นเป็น 42 องศา อาการเราก็จะหนัก เฉกเช่นโลกในตอนนี้"

ผลกระทบทางทะล

ในฐานะทูตด้านฉลาม (WildAid) มารีญา บอกว่า ได้เห็นกับตาตัวเองเมื่อฉลามที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารสูงสุดของท้องทะเล มาหน้าที่ดูและประชากรในน้ำ แต่ปัจจุบันที่ปริมาณฉลามลดลงอย่างรวดเร็ว จากการถูกล่าและการใช้เครื่องมือจับปลาขนาดใหญ่ที่ทำให้ฉลามติดขึ้นมาด้วย ระบบห่วงโซ่อาหารเกิดความไม่สมดุลกัน ปลาหมอ ที่เป็นอาหารของฉลาม จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะกินสิ่งที่อยู่ใต้ห่วงโซ่อาหารเยอะขึ้น เช่น ปลานกแก้ว เมื่อปลานกแก้วเริ่มหายไป จะไม่มีเพียงพอทำความสะอาดปะการัง ปะการังก็จะเต็มไปด้วยสาหร่ายต่าง ส่งผลให้ตัวอ่อนปะการังไม่มีที่ลงเกาะ แล้วก็จะไม่มีปะการังตัวอ่อนมาทดแทนตัวเก่า สุดท้ายแล้วระบบนิเวศใต้ท้องทะเลก็จะล่มสลาย

..ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง ในฐานะประชาชนที่จะช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับมา..

คิดว่า สิ่งสำคัญ คือ การเริ่มต้นจากมุมมองความคิด ลองคุยเพื่อให้เข้าใจความต้องการของตัวเอง และเริ่มค่อย ๆ ทำจากสิ่งเล็ก ๆ จากการที่ต้องใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกิน การเดินทาง ไฟฟ้า หรือทุก ๆ กิจกรรม อาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แต่มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ต่อคนรอบข้าง และโลกใบนี้ของเรา แต่รัฐก็จะต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบไฟฟ้า ระบบพลังงาน ที่รัฐบาลไทยมีเป้าหมายจะหาพลังงานทดแทนนั่นก็คือโซล่าเซลล์ กลายเป็นว่าคนเข้าถึงได้น้อย เนื่องด้วยมีราคาแพง ปัจจุบันมีเพียงแค่ 3% เท่านั้น

ทำไมเราไม่มีโซล่าเซลล์บนโรงพยาบาลทุกที่ ทำไมไม่มีในทุกโรงเรียน จึงรู้สึกว่าคนไทยได้ผลกระทบจากสิ่งนี้ เพราะยังต้องจ่ายค่าไฟที่แพงและไม่เท่าที่ควรจะเป็น สำหรับคนไทยคนนึงรู้สึกว่ามันน่าอึดอัด เพราะว่าเราไม่มีทางเลือก

มาถึงเรื่อง "ระบบอาหาร" (Food Systems) มีความเชื่อมโยงไปถึงการใช้ที่ดิน สอดคล้องกับ 45% บนโลกใบนี้เป็นพื้นดินที่เราสามารถอยู่ได้ โดยในจำนวนนี้ 16% ถูกใช้สำหรับการปลูกพืชผักที่มนุษย์กินได้ ที่เหลือเกือบ 80% เป็นปศุสัตว์ กับสิ่งทอ ดังนั้นหากเราดู "Global calorie Supply" กับ "Global protein Supply" การให้พลังงาน – โปรตีน มากขนาดไหน จากสิ่งเหล่านี้ "การที่เราใช้พื้นที่ 80% สำหรับปศุสัตว์ เราได้โปรตีนไม่ถึง 20% พอเทียบกับ 16% ที่เราใช้สำหรับปลูกพืชผักที่มนุษย์กินได้ มีแคลอรี่ 80% และ โปรตีน กว่า 60% พอเทียบกับพื้นที่ที่เราใช้กับปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์เนื้อนมไข่ ได้แคลอรี่ ไม่ถึง 40% โปรตีน ไม่ถึง 40% แปลว่าเราใช้พื้นที่เล็กมาก ที่สามารถสร้างพลังให้มนุษย์ได้เยอะมาก"

เชื่อมโยงมาถึงการที่คนไทยต้องเผชิญกับวิกฤต PM 2.5 ส่วนใหญ่มาจากเผาไร่ที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ ทั้งในเรื่องของการที่ต้องถางป่ากระตุ้นการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ยิ่งการใช้พลังงานเยอะก็ยิ่งเป็นการส่งผลกระทบต่อโลก และสิ่งมีชีวิต

"มารีญาได้ไปเห็นฟาร์มไก่สองที่ มีการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม ไก่เหล่านี้มีชีวิตที่ไม่สามารถแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติได้เพราะเลี้ยงแบบขัง และชนิดไก่ที่ใช้เป็นชนิดที่โตเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับฟาร์มไก่ออแกนิคมีสวัสดิภาพที่ดีกว่า"

ถามว่า..ทำมาถึงตอนนี้ มีกำลังใจไหม…?

"มารีญา" บอกว่า มีกำลังใจมากเนื่องด้วยสิ่งที่ได้ทำมีประโยชน์ต่อคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด, พ.ร.บ. ช้างไทย ที่ตอนนี้ที่โลกมีผู้ลงชื่อสนับสนุนกว่า 170,000 รายชื่อจากทั่วโลก เพื่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงกฎหมายและนโยบายอย่างจริงจังและยั่งยืนของสวัสดิการช้างไทย, ทั้งในเรื่องของฉลาม ที่ปีนี้ในประเทศไทยมีการรับประทานหูฉลามน้อยลงถึง 34% ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

ปีนี้ มารีญา ไม่ได้บินเลย เราพยายามบินให้น้อยที่สุด ถ้าเราสามารถนั่งรถบัส รถตู้ รถไฟ จักรยาน หรือเดิน รวมถึงเรื่องแฟชั่นเหมือนกัน ก็จะเลือกใส่ซ้ำๆ และเลือกซื้อของที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนการรับประทานอาหารก็จะตักอาหารแค่พอกินไม่ตักเหลือทิ้ง

แล้วจะชักชวนคนไทยอย่างไร ให้ปรับวิธีคิด - วิถีชีวิตอย่างไร...

มารีญา เคยทำงานวิจัยเรื่องพลังงานสะอาด มีข้อที่ทำเรื่องของการมีครอบครัว.. ซึ่งในคำตอบมองว่า ครอบครัวสำคัญมาก หลายคนอยากจะมีลูก อยากมีครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนดูแลพ่อแม่ ฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่า ครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ และต้องการให้ได้กินน้ำกินอาหารที่ดีปลอดสารพิษ สารเคมี ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ปราศจากฝุ่น PM 2.5 ก็จะทำให้เรารู้สึกว่าได้ต้องปรับวิถีชีวิตตัวเองเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ อาจจะไม่ต้อง 100% แค่คนละนิดคนละหน่อยเชื่อว่าโลกของเราก็จะค่อยๆ กลับมาเหมือนเดิมได้

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ มีความตื่นตัวเรื่องนี้ นั่นก็เพราะว่าเขาไม่มีทางเลือกแล้ว เขาต้องเผชิญกับเวลาที่เหลืออยู่ของสิ่งแวดล้อมที่น้อยลงเรื่อย ๆ บางคนบอกสายไปด้วยซ้ำกัน บางคนคิดว่าสายไป แต่มารีญาคิดว่า ไม่มีอะไรสายเกินไป เพราะโลกนี้มีใบเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องทำ ยิ่งทำเร็ว ยิ่งได้ประโยชน์

พบกับ :รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : "พล.อ.ประวิตร" ลาออกหัวหน้า พปชร. เปิดทางเลือก กก.บห.ชุดใหม่

"ชัยวุฒิ” รับ "ไพบูลย์" เหมาะนั่งเลขาฯ "พปชร." แทน "ธรรมนัส"

อัปเดตเส้นทางพายุ "ยางิ" กรมอุตุฯ เตือน "เหนือ-อีสาน" ฝนตกหนัก


ดักจับ "ปลาหมอคางดำ" ในคลองสมุทรปราการ ได้มากกว่า 1 ตัน

Thu, 5 Sep 2024 14:45:08

วันนี้ (5 ก.ย.2567) ประมงจังหวัดสมุทรปราการจัดกิจกรรมลงแขกลงคลอง ตัดวงจรการแพร่ระบาดของ "ปลาหมอคางดำ" บริเวณคลองกระออมนอก ประตูระบายน้ำคลองกระออม หมู่ 2 ต.บางคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นคลองเชื่อมต่อกับคลองสรรพสามิตที่น้ำไหลไปยังปากอ่าวหรือทะเล

วิธีการจับปลาหมอคางดำครั้งนี้ใช้ถุงอวน เพื่อดักปลาหมอคางดำที่ไหลมาตามกระแสน้ำ ร่วมกับการใช้อวนรุนจับปลาหมอคางดำ

ล่าสุด กรมประมงประกาศกำหนดเครื่องมือ ขนาดเรือ เพื่ออนุญาตผ่อนผันให้ใช้ในการประมงจับปลาหมอคางดำ โดยอนุญาตให้ใช้อวนรุนได้ 19 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด

นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า กิจกรรมลงแขกลงคลองจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยพยายามจับปลาหมอคางดำที่มีขนาด 3 เซนติเมตรขึ้นไปให้ได้มากที่สุดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อนจะปล่อยปลากระพงขาว หรือปลานักล่า เพื่อให้ล่าปลาหมอคางดำในระบบนิเวศกินเป็นอาหาร

อ่านข่าว : ฟ้องเอาผิด “ปลาหมอคางดำ” ระบาด เรียกค่าเสียหาย 2.4 พันล้าน

การใช้อวนรุนจับปลาหมอคางดำในวันนี้ (5 ก.ย.) พบปัญหาไม่สามารถจับปลาได้ เนื่องจากในคลองมีตอไม้เป็นอุปสรรคในการรุน ส่วนการใช้ถุงอวนดักปลาหมอคางดำตามกระแสน้ำ พบว่าประสบความสำเร็จ สามารถจับปลาหมอคางดำได้มากกว่า 1 ตัน

ปลาหมอคางดำที่จับได้ส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้กับชาวบ้านไปทำเป็นอาหาร ส่วนที่เหลือจะนำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อสนับสนุนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โรงเรียนพระดาบส มูลนิธิพระดาบส จ.สมุทรปราการ

สำหรับขั้นตอนการอนุญาตใช้อวนรุนในการจับปลาหมอคางดำ โดยประมงจังหวัดเป็นผู้อนุญาต ประกาศรับสมัครผู้ประสงค์ที่จะใช้เครื่องมืออวนรุนในการจับปลาหมอคางดำ โดยเรือจะต้องต่ำกว่า 3 ตันกรอส ผู้ประสงค์ต้องยื่นสำเนาบัตรประชาชน ข้อมูลเรือที่จะใช้พร้อมเครื่องมือ ภาพเรือเต็มลำ ให้กับสำนักงานประมงจังหวัด

หลังจากนั้นประมงจังหวัดจะพิจารณา หากผ่านจะได้รับใบแจ้งอนุญาตให้ทำการประมงจับปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่กำหนดได้ โดยประกาศดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2567

อ่านข่าว

ร้องฟื้นฟูศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเกาะคอเขา จ.พังงา

ตำรวจคาด นทท.รัสเซียฆ่าตัวตาย พบมีปัญหาเรื่องเงิน

ตลาดน้อยเสริมกระสอบทราย 1พันถุง รับมือล้นตลิ่งริมเจ้าพระยา


ฟ้องเอาผิด “ปลาหมอคางดำ” ระบาด เรียกค่าเสียหาย 2.4 พันล้าน

Thu, 5 Sep 2024 10:38:00

วันนี้ (5 ก.ย.2567) นายปัญญา โตกทอง พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ กว่า 10 คน ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขต อ.อัมพวา บางคนที และ อ.เมืองสมุทรสงคราม กว่า 1,400 คน เดินทางไปที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กับทนายจากสภาทนายความฯ เพื่อยื่นฟ้องบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือบริษัท CPF พร้อมกรรมการบริหารรวม 9 คน ในคดีสิ่งแวดล้อม

ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินคดี จะเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการ ขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งมีคำขอบังคับให้บริษัท CPF แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”

สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทน ที่กลุ่มประมงเรียกร้อง แยกออกเป็น 2 กลุ่ม

1) กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตรา ไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจำนวนสมาชิกกว่า 1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท

2) กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนวัน ในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ.2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจำนวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่ เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท

รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขต จ.สมุทรสงคราม เรียกร้องเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท

นอกจากนี้ ตัวแทนจากสภาทนายความ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพ ประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสงคราม จำนวน 54 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

ประกอบด้วย 1.กรมประมง 2.อธิบดีกรมประมง 3.คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความ ปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6.รมว.เกษตรและสหกรณ์ 7.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8.อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

9.คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11.รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

13.คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะแห่งชาติ 14.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15.อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16.กระทรวงมหาดไทย 17.รมว.มหาดไทย 18.กระทรวงการคลัง

ซึ่งผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองทั้ง 54 คน ได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงายของรัฐเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้อง ตามเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงินจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือบริษัท CPF หรือ ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย

อ่านข่าว :

"สายสุนีย์ จ๊ะนะ" คว้าเหรียญทองที่ 2 วีลแชร์ฟันดาบ เหรียญที่ 5 ทัพพาราลิมปิกไทย

ตลาดน้อยเสริมกระสอบทราย 1พันถุง รับมือล้นตลิ่งริมเจ้าพระยา


สลด! วาฬหัวทุยแคระลูกตายคาท้อง พบขยะพลาสติกเต็มท้อง

Tue, 3 Sep 2024 13:05:00

วันนี้ (3 ก.ย.2567) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายหาดบางเทา จ.ภูเก็ต พบซากวาฬหัวทุยแคระ​ ขนาดความยาว 2.24 เมตร ตัวเมียโตเต็มวัย แต่สภาพซากเริ่มเน่า ความสมบูรณ์ของร่างกายผอม

ลักษณะภายนอกพบบาดแผลถลอกจากการเกยตื้น นอกจากนี้บริเวณส่วนหัวและข้างลำตัว ทางเดินหายใจพบฟองอากาศ มีของเหลวคั่งในหลอดลมและเนื้อเยื่อปอด บ่งบอกว่าสัตว์มีอาการสำลักน้ำก่อนตาย

ภาพแม่วาฬหัวทุยแคระ เกยตื้นตายที่หาดบางเทา จ.ภูเก็ต (ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน)

ภาพแม่วาฬหัวทุยแคระ เกยตื้นตายที่หาดบางเทา จ.ภูเก็ต (ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน)

จากการผ่าชันสูตรวาฬหัวทุยแคระ ทางเดินอาหารพบขยะทะเล ประเภทถุงพลาสติก และเชือกในหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารส่วนต้น บริเวณกระเพาะอาหารพบแผลหลุมจำนวนมาก ส่วนของลำไส้เล็กและใหญ่พบการอักเสบ ระบบสืบพันธ์ุพบลูกวาฬ ขนาดความยาว 50 ซม.ตัวผู้ สภาพสมบูรณ์อยู่ในระยะช่วงท้ายของการตั้งท้อง

สรุปสาเหตุการตาย คาดว่าแม่วาฬมีสภาพอ่อนแอ และกินขยะทะเลทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ จนมีอาการป่วยและมีการจมน้ำตายในที่สุด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป

ล้อมคอกดูแล 3 พะยูนหากินสะพานราไวย์

ด้านนายวิษณุ แจ้งใจ ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (สทช.10) มอบหมายให้ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จ.ภูเก็ต ลงพื้นที่ติดตามพะยูน 3 ตัวที่หากินบริเวณท่าเทียบเรือสะพานราไวย์ จ.ภูเก็ต โดยงดใช้เครื่องมืออวนขนาดใหญ่ หรือหลีกเลี่ยงบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหรือพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูน

ส่วนการเดินเรือ ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต กรณีหากพบเห็นพะยูนบาดเจ็บหรือตาย สามารถแจ้งข่าวสารให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือโทรแจ้งสายด่วน หมายเลข 1362 เพื่อจะได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าช่วยเหลือและนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก พร้อมนี้ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดูแล ประชาสัมพันธ์ และเฝ้าระวังทุกวัน

อ่านข่าว : 70 ได้ลุ้น! กอช.เล็งชง ครม.ชุดใหม่ขยายอายุซื้อ "หวยเกษียณ"

"มนัญญา" ถอนตัว ชิงเก้าอี้นายก อบจ.อุทัยธานี

ปิดตำนาน 50 ปี "ต่วย'ตูน" วางแผงเล่มสุดท้าย ก.ย.นี้

 

 


รัฐบาลเตรียมปลุกผีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

Tue, 3 Sep 2024 10:27:00

รัฐบาลเตรียมปลุกผีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ล่าสุดชาวสะเอียบกว่า 2,000 ครอบครัว ต่างเสียใจกับการตัดสินใจของนักการเมือง ที่จะกลับมาสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกครั้ง

แกนนำคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชุมถึงการตัดสินใจของรัฐบาล หลายกลุ่มชาวบ้านทั้งบ้านแม่เต้น, บ้านดอนแก้ว, บ้านดอนชัย และบ้านดอนชัยสักทอง ต่างพากันออกมาพูดกันในตลาดถึงกรณีที่รัฐบาลตัดสินใจ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลในขณะนี้

เส็ง  ขวัญยืน  อดีตกำนันตำบลสะเอียบ

เส็ง ขวัญยืน อดีตกำนันตำบลสะเอียบ

นายเส็ง ขวัญยืน อดีตกำนันตำบลสะเอียบ และแกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นแกนนำต้านเขื่อน ในสมัยที่มีกระแสรุนแรงกว่า 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน กล่าวว่า คิดไว้ในใจแล้วว่า ต้องมีคนปลุกผีแก่งเสือเต้นขึ้นมาจากนักการเมือง การต่อสู้เรื่องแก่งเสือเต้นสู้มาหลายยุค หลายรัฐบาล พบว่ามีการอนุมัติงบประมาณศึกษาโครงการสร้างเขื่อน ใช้เงินงบประมาณครั้งละ 100-200 ล้าน แล้วก็ไม่เกิดอะไร

ถ้ารัฐบาลเอางบประมาณที่ไปศึกษา มาแก้ปัญหาน้ำสร้างโครงการขนาดเล็ก ขนาดกลาง บล็อกน้ำแต่ต้นทางป่านนี้คงจะบรรเทาไปได้มากแล้ว

น้ำท่วมครั้งนี้ยังถือว่าโชคดี ที่น้ำสาขาแม่น้ำยมไม่มีน้ำป่าออก มีเพียงต้นน้ำที่ อ.ปง ถ้าล็อคน้ำตามโครงการกิ่วผาวอก โครงการน้ำเม่า, โครงการน้ำลู ถ้าบล็อกได้น้ำยมก็จะไม่ท่วม และแทบจะไม่มีน้ำไหลลงแม่น้ำยม น้ำปี๊ในเขต อ.เชียงม่วน จ.พะเยา

มีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำปี้นานแล้ว แต่ไม่เสร็จผู้รับเหมาทิ้งงาน น้ำปี๊เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้น้ำท่วมแพร่ สุโขทัยในครั้งนี้ คือ น้ำที่ไหลมาจาก อ.บ้านหลวง จ.น่าน อยากให้นักวิชาการทำวิจัย ถ้าบล็อกน้ำปี๊ได้ทั้งหมดจะมีความรุนแรงเมื่อน้ำหลากซักกี่เซ็นต์ กี่เมตร ศึกษาให้รู้ชัดเจน

การต่อสู้ของชาวสะเอียบ สู้มานานกว่า 30 ปี นับแต่ปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา มีแกนนำต่อต้านเขื่อน สิบกว่าคนแล้ว บางคนอายุมาก แก่ เสียชีวิตไปก็มาก โดยเฉพาะกำนันชุม สะเอียบคง ที่เสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว เรื่องนี้ไม่รู้จบเพราะรัฐบาลเลี้ยงไข้มากกว่า ประชากรใน 4 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2538 เป็นต้นมา

สะเอียบมีเศรษฐกิจที่ดีเก็บภาษีได้ปีละ 500 ล้านเศษ ถือว่าไม่ธรรมดาแล้ว สะเอียบเป็นชุมชนที่อยู่รวมกันหนาแน่น ถ้าเป็นไปตามรัฐบาลว่า จะเป็นเรื่องใหญ่สร้างความวุ่นวายมีความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับบาปจากภัยธรรมชาติ

ชาวสะเอียบคงต้องกลับไปใช้วิธีเดิมๆ มาแบบเดิมเราก็ไปแบบเดิม ฟังจากการประชุมสรุปว่า ไม่มีวิธีไหนที่จะดีกว่าวิธีที่เคยปฏิบัติมา แบบนุ่มนวลก็เคยทำมาแล้วแต่อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่ง ต่อไปก็คงต้องใช้ระบบเหมือนปี 2538 คงจะมีการประกาศปิดพื้นที่ ห้ามผู้เกี่ยวข้องเข้ามาหาข้อมูลต่างๆ อย่าง เช่น กรมชลประทานที่ทำโครงการค้างๆ ไว้ ต้องมาพูดกันอีกครั้งว่ามีความจริงใจมากแค่ไหน

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ

นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ ในฐานะ แกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี คือจะเอาป่า 100,000 ไร่ ที่แพร่ไปแลกกับที่ทับลาน

เรื่องนี้ทำไม่ถูกต้อง รัฐบาลไม่เคยคิดศึกษาผลกระทบในแต่ละจังหวัดก่อน จะเอาป่าของชาวแพร่ไปแลกกับทับลาน ชาวสะเอียบไม่ยอม การต่อสู้ต่อต้านเขื่อนขาวชาวสะเอียบ แกนนำสำคัญๆ หลายคนเสียชีวิตไปโดยเฉพาะกำนันชุม สะเอียบคง แต่ชาวสะเอียบมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่

อย่าคิดว่า นายชุม สะเอียบคง นายก อบต.สะเอียบ หมดไปแล้วคิดว่าจะไม่มีคนไหนขึ้นมาอีกอย่าหวังเลย คนรุ่นใหม่ยืนยันจะขอสู้ต่อไปจะปกป้องผืนป่าสักทองที่เป็นป่าสำคัญแห่งสุดท้ายของประเทศให้ได้

และโครงการที่ชุมชนเสนอ คือ “โครงการจัดการน้ำแบบสะเอียบโมเดล” มีปัจจัยหลายอย่างที่ภาครัฐทำไม่เสร็จหรือไม่ให้ความสำคัญ ถ้าทำตามปกติจะแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างสมบูรณ์ การที่ยังดำเนินการล่าช้าเพื่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หรือเปล่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความตั้งใจของชุมชนสะเอียบครั้งนี้ มีกระแสแรง แม้แต่ผู้อาวุโสของหมู่บ้านยังเชื่อว่า ชาวสะเอียบต้องใช้วิธีรุนแรง เช่น ในอดีต มีการปิดถนน, ปิดหมู่บ้าน, ประณามการกระทำของภาครัฐ

อย่างไรก็ตามหลังจากตกเป็นกระแสทำให้มีผู้สนใจกล่าวถึงเรื่องราวของชาวสะเอียบอย่างมาก กลายเป็นกระแสสร้างไม่สร้างเริ่มเกิดความขัดแย้งทางความคิดในตัวเมืองแพร่ และอาจบานปลายไปถึงการสร้างความเกียจชังแบ่งแยก

อย่างไรก็ตามทางราชการใน จ.แพร่ ยังไม่มีกระแสออกมาดำเนินการใดใดในเรื่องนี้ แต่ชาวบ้านในชุมชนสะเอียบ กำลังประชุมเตรียมการและจำกัดคนเข้าออกในหมู่บ้าน มีการนำรายชื่อนักการเมืองทั้ง 3 คน คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายปลอดประสพ สุรัสวดี ไปให้ผีเจ้าบ้านที่บริเวณศาลผีเจ้าบ้านหอแดงดู

และขอคำแนะนำว่า จะจัดการกับนักการเมืองทั้ง 3 คนอย่างไร ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 7 ก.ย. ชาวบ้านสี่หมู่บ้านแห่โลงศพของนักการเมืองไปทำพิธีสาปแช่งที่หอแดง หน้า รพ.สต.สะเอียบ

อ่านข่าว : ปลุกผี "แก่งเสือเต้น" 30 ปี แก้น้ำท่วมสุโขทัย


ปัดฝุ่น 34 ปี "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ชาวบ้านห่วงกระทบชุมชน-ป่าไม้

Mon, 2 Sep 2024 20:02:00

การสร้างเขื่อน เป็นวิธีคิดที่มาจากการบริหารจัดการน้ำที่ว่า น้ำเหนือมีแม่น้ำ 4 สายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งแม่น้ำ 3 สายหลัก ปิง วัง และ น่าน ซึ่งมีเขื่อนอยู่แล้ว แต่ "แม่น้ำยม" เป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อน ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ยาก

ในปีนี้ "น้ำยม" เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมหนัก ตั้งแต่พะเยา แพร่ และ สุโขทัย จึงไม่แปลกที่จะพูดถึง "เขื่อน" ที่จะใช้ชะลอน้ำ นั่นคือเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ผลักดันมานานเกือบ 40 ปี

ถ้าไม่นับเรื่องการเมือง คำถามสำคัญ คือ วันนี้ถ้ามี "เขื่อนแก่งเสือเต้น" น้ำจะไม่ท่วมจริงหรือไม่

"ปลอดประสพ" ชี้ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" แก้น้ำท่วม

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างว่า ช่วงนี้สุโขทัยจะมีมวลน้ำ เกือบ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จะช่วยเก็บกักน้ำได้กว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มีมวลน้ำไปยังพื้นที่ท้ายน้ำ ประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งชลประทานสามารถพร่องไปส่วนอื่นได้

ทั้งนี้อ้างว่าไม่ได้ดันเรื่องนี้แบบสุดซอย แต่อยากให้ศึกษาใหม่ ซึ่งอาจจะขยับแนว หรือลดขนาดโครงการหรือไม่

เมื่อเรื่องนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง นายปลอดประสพ จึงเสนอให้สำรวจความคิดเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ทำโพล 100% ในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ประมาณ 10 กว่าล้านคน 

"เขื่อนแก่งเสือเต้น" ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม

ขณะที่ ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม

ปริมาณน้ำท่า ลุ่มน้ำยมจะมีปริมาณน้ำท่าประมาณ 4,143 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ซึ่งสามารถจุน้ำได้ประมาณ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร และลุ่มน้ำยมจาก จ.พะเยา จนถึงพิจิตร มีลำน้ำสาขาถึง 19 ลำน้ำสาขา ซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ

และหากมีน้ำเยอะในพื้นที่ท้ายเขื่อน (ลุ่มน้ำยมมี 19 ลุ่มน้ำสาขา) ก็ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำอยู่ดี

ต่อให้มีแก่งเสือเต้น น้ำก็ยังท่วมสุโขทัย เพราะตำแหน่งที่จะสร้างจะเป็นน้ำที่ลงสุโขทัยแค่ 10%

ในฐานะที่ ผศ.สิตางศุ์ เป็นนักวิชาการที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ก่อนปี 2554 เชื่อว่า มีเหตุผลเดียวที่รัฐบาลเลือกปัดฝุ่นโครงการนี้

รัฐบาลเพื่อไทยกลับมา ก็ยกโครงการเก่าๆ ขึ้นมา ประกอบกับน้ำท่วมสุโขทัย ไม่น่าแปลกใจที่แก่งเสื้อเต้นจะถูกหยิบยกขึ้นมาอีก และจะพูดตลอดไป 

มูลนิธิสืบฯ ชี้ "สร้างเขื่อน" ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาน้ำท่วม

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่คัดค้านเรื่องนี้ ประธานมูลนิธิสืบฯ เห็นว่า การสร้างเขื่อนไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาน้ำท่วม ถ้าภาครัฐ บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จะมีประสิทธิภาพกว่า

เช่น การขยายพื้นที่โครงการส่งน้ำฯ ยมน่าน ,การตัดยอดน้ำที่คลองหกบาท ,การเพิ่มพื้นที่รับน้ำทั้งในคลองสาขาและทุ่งรับน้ำ เป็นต้น

แต่การไม่ได้พัฒนาจุดเหล่านี้ เช่น การระบายน้ำคลองหกบาท ผันเข้า คลองระบายน้ำยมน่าน และแม่น้ำยมสายเก่า ทำให้คันดินแตกมากกว่า 5 จุด เพราะไม่ได้พัฒนาให้มีศักยภาพรับน้ำเท่าที่ควร 

ถ้าลงทุนกับโครงการเหล่านี้ จะคุ้มค่ากว่าการลงทุนกับเขื่อนในผืนป่าหลายหมื่นล้านบาท

ทั้ง ผศ.สิตางศุ์ และมูลนิธิสืบฯ เห็นตรงกัน ในประเด็นที่ว่า "มีวิธีการอื่น" ที่ใช้บริหารจัดการลุ่มน้ำยม ได้ดีกว่าการสร้างเขื่อน

ซึ่งหลายโครงการกรมชลประทานได้ทำอยู่แล้ว หากกรมชลประธานเลือกที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ จะไม่จำเป็นต้องรอเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งอาจใช้เวลาศึกษาใหม่ 3-5 ปี และอาจใช้เวลาก่อสร้างอีกกว่า 10 ปี

ถก ครม.ยังไร้วาระ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" 2 แสนล้านบาท

ในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ย.) เวลา 10.00 น.ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ยังคงเรียก ครม.ถกตามปกติ แต่ยังไม่พบวาระแห่งชาติ เรื่องการผลักดันงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

แต่หลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย ประกาศจะรื้อฟื้นโครงการ "ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น" ขึ้นมา ก็ทำให้ชาวบ้าน ใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่เคยถูกกำหนดให้ก่อสร้างเขื่อนออกมาคัดค้านทันที

ก่อสร้างเขื่อน กระทบกับวิถีชีวิต-ป่าไม้

ชาวบ้าน ใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จับกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ประกาศจะฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขึ้นมาผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ในลุ่มแม่น้ำยม

นายเส็ง ขวัญยืน อดีตกำนัน ต.สะเอียบ เชื่อว่า โครงการก่อสร้างเขื่อน ยังคงกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน คือบ้านแม่เต้น,ดอนแก้ว,ดอนชัย และบ้านดอนชัยสักทอง รวมแล้วมากกว่า 2,000 ครอบครัว รวมถึงผืนป่าสักทอง ที่ต้องเสียหายอีก 30,000-40,000 ไร่

ส่วนที่ จ.สุโขทัย อ.สวรรคโลก ที่หมู่ 6 ต.คลองกระจง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำในแม่น้ำยม ซัดกระสอบทราย คันกั้นน้ำชั่วคราวพัง รวมกว่า 100 หลังคาเรือน และสวนกล้วย ที่เป็นแหล่งขายใบตองแปลงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งทบทวน ฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกผลักดัน ตั้งแต่ปี 2523 และหลังเผชิญการต่อต้านของคนในพื้นที่ ก็ถูกแขวนไว้ มาในปี 2555 รัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบขึ้นมาทบทวน-ศึกษาอีกครั้ง ซึ่งยังคงมีแรงต้านจากภาคประชาชน แต่ก็เกิดเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร ทำให้ต้องชะลอออกไปอีกครั้ง

อ่านข่าว : 

ปลุกผี "แก่งเสือเต้น" 30 ปี แก้น้ำท่วมสุโขทัย

อัปเดต "แลนด์บริดจ์" เตรียมชง ครม. อนุมัติร่าง พ.ร.บ. SEC ในปีนี้

จนท.เร่งฟื้นฟูดินสไลด์ภูเก็ต สั่งหยุดกิจกรรมบนพระใหญ่


สั่งปิด "พระใหญ่" ห้ามทำกิจกรรมชั่วคราว-สอบข้อเท็จจริงดินสไลด์

Mon, 2 Sep 2024 15:48:45

วันนี้ (2 ก.ย.2567) พ.ต.อ.คุณเดช ณ หนองคาย ผกก.สภ.กะรน จ.ภูเก็ต สั่งการให้ตำรวจตรวจสอบการเปิด-ปิดของพุทธอุทยานยอดเขานาคเกิด สถานที่ประดิษฐานพระพุทธมิ่งมงคลนาคคีรี หรือชาวบ้านเรียกว่า พระใหญ่ ภายใต้การกำกับดูแลของวัดกิตติสังฆาราม หรือวัดกะตะ

ภายหลังพระครูอุดมวชิรมงคล เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต ทำหนังสือถึงพระครูวิสุทธิ์กิตยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดกิตติสังฆาราม ให้หยุดดำเนินการสิ่งปลูกสร้างและหยุดดำเนินการใดๆ บนพื้นที่ป่าเทือกเขานาคเกิดทุกกรณี เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการติดป้ายงดให้บริการชั่วคราวบริเวณทางเข้า พร้อมนำกรวยยางมาวางปิดบริเวณทางเข้าลานจอดรถ แต่ไม่ได้มีการเขียนระบุวันเปิดว่าเมื่อใด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแล เพื่อแจ้งกับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่จะมาสักการะพระใหญ่

ทั้งนี้ เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ตได้ส่งหนังสือถึงเจ้าอาวาสวัดกิตติสังฆาราม ด่วนที่สุดที่ จจ.ภก.1701/062 ลงวันที่ 31 ส.ค.2567 เรื่อง ให้หยุดดำเนินการสิ่งปลูกสร้างและหยุดดำเนินการใดๆ บนพื้นที่ป่าเทือกเขานาคเกิดทุกกรณี ตามที่มีข่าวดินโคลนถล่มบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนและทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และแก้ไขเพิ่มเติม (ขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563 และเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2564 ต่อสำนักงานทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต ตามเอกสาร ป.ส.20 ฉบับลงวันที่ 16 ธ.ค.2563 เพื่อสร้างหรือเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมิ่งมงคลเอกนาคคีรี สถานที่ปฏิบัติธรรมและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา (เขานาคเกิด) ของวัดกิตติสังฆาราม ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ตนั้น

จึงให้วัดกิตติสังฆารามหยุดการดำเนินการใดๆ บนพื้นที่ป่าเทือกเขานาคเกิดทุกกรณี และให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด จนกว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจนแล้วเสร็จ

อ่านข่าว

"ป่าไม้" แจ้งข้อหาวัดดัง "พระใหญ่ภูเก็ต" รุกป่าเขานาคเกิด

ศาลสั่ง "วิน โพรเสส" ชดใช้ 1.7 พันล้านฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

เอาผิด 2 นักท่องเที่ยว นั่งชิลตกปลาในอุทยานฯ เขาใหญ่


ศาลสั่ง "วิน โพรเสส" ชดใช้ 1.7 พันล้านฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

Mon, 2 Sep 2024 12:33:00

วันนี้ (2 ก.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลจังหวัดระยอง มีคำพิพากษาให้บริษัทวิน โพรเสส จำกัด ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อฟื้นฟูดิน และน้ำที่มีการปนเปื้อนมลพิษให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ตามคำขอเป็นเงินกว่า 1,700 ล้านบาท กรณีที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟ้องเอาผิดทางแพ่ง บริษัทวิน โพรเสส จำกัด  

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านหนองพะวา เดินทางมาร่วมติดตามคดี กล่าวว่า พอใจในคำพิพากษา และยืนยันชัดเจนว่า บริษัททำผิดกฎหมายจริง ต้องชดใช้ค่าเสียหาย โดยหวังให้คดีนี้ เป็นบรรทัดฐานของหน่วยงานรัฐพร้อมทั้งฝากถึงรัฐบาลใหม่ จัดสรรงบประมาณ ฟื้นฟูผลกระทบให้กับชาวบ้าน

การฟ้องร้องในคดีแพ่งดังกล่าว หลังจาก วิน โพรเสส ทำการรับจ้างขนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมจากโรงงานแหล่งผลิตเข้ามาในพื้นที่ เพื่อบำบัดกำจัด แต่พบว่าเป็นเพียงการนำมากองไว้ ลักลอบฝังหรือเททิ้งภายในพื้นที่โรงงานและบริเวณใกล้เคียง

นับตั้งแต่ประมาณปี 2554 หลังจากโรงงานมาตั้ง และส่งผลกระทบด้านมลพิษเริ่มปรากฏมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว แต่บริษัทก็ยังคงดำเนินต่อมา จนถึงช่วงกลางปี 2563 ฝ่ายบริษัทจึงได้ขอเลิกทำ เนื่องจากเริ่มถูกตรวจสอบอย่างหนักมาหลายปี

อ่านข่าว ชาวบ้านไม่ทน! แจ้งเอาผิดอุตสาหกรรมเมินแก้มลพิษ "วิน โพรเสส"

โดยเฉพาะในปี 2563 ที่ คพ. ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน และตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง จากการร้องเรียนของชาวบ้านหนองพะวา เมื่อปี 2560 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน

ต่อมาวันที่ 21 ก.ค.2563 บริษัท วิน โพรเสส และกรรมการบริษัทอีก 2 คน ได้ถูกดำเนินคดีอาญา ในความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เนื่องจากยอมรับสารภาพ จึงได้รับการลดหย่อนเหลือเพียงโทษปรับและรอลงอาญา

อ่านข่าว คพ.เพิ่มจุดตรวจอากาศ "วิน โพรเสส" พบสารพิษในชุมชน

สำหรับผลการตรวจสอบและตรวจวัดโดย คพ.มีข้อมูลที่สำคัญ คือ ผลตรวจคุณภาพน้ำที่ไหลผ่านโรงงาน มีสภาพเป็นกรดเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดจากการฝังกลบของเสียปนเปื้อนสารพิษภายในโรงงาน และมีการซึมสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

อ่านข่าว 

ก่อนไฟไหม้ "โรงงาน วิน โพรเสส" รัฐพลาดโอกาสยับยั้งหลายครั้ง

ถอดเบื้องหลังคดี "วิน โพรเสส" ถึงเวลาต้องแก้กฎหมายโรงงาน

คพ.เตือนกลิ่นเหม็นไฟ "วิน โพรเสส" ยังอ่วม-พบสารมลพิษอากาศ 


เอาผิด 2 นักท่องเที่ยว นั่งชิลตกปลาในอุทยานฯ เขาใหญ่

Mon, 2 Sep 2024 06:35:00

จากกรณีเพจกลุ่มท่องเที่ยวเขาใหญ่โพสต์ภาพนักท่องเที่ยว 2 คน เป็นชายและหญิงกำลังนั่งตกปลา บริเวณทุ่งกวาง ริม ถ.ธนะรัชต์ ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมระบุแคปชัน "ชิล วันเสาร์ ตกปลาหน่อย ณ ทุ่งกวาง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่"

ต่อมามีผู้ใช้สื่อออนไลน์คอมเมนต์เป็นจำนวนมาก ทั้งการตกปลาหรือการล่าสัตว์ในเขตอุทยานฯ อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่บางส่วนพยายามสอบถามรายละเอียด รวมทั้งต้องการทราบว่าอุทยานฯ จะดำเนินการอย่างไร

นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระบุว่า เบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่นิติกรประจำอุทยานฯ ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุที่ สภ.เมืองนครนายก โดยมีความผิดตามมาตรา 19 (3) ล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการใด ๆ, มาตรา 19 (6) เข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ และมาตรา 19 นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใด ๆ เข้าไป

อันนี้เป็นการล่าสัตว์ เพราะเขาเตรียมเบ็ดมา

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีนักท่องเที่ยวคนใดทำแบบนี้ พร้อมย้ำว่าการเข้ามาท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าไม่เคารพกฎกติกาที่ทุกคนปฏิบัติ จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายถึงที่สุด

เอาผิดใช้ฝอยขัดหม้อยัดท่อ จยย.เลี่ยงตรวจเสียงดัง

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบฝอยขัดหม้อถูกทิ้งตามข้างทางในเขตอุทยานฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีท่อเสียงดัง จะใช้ใส่ฝอยขัดหม้อในท่อไอเสียรถจักรยานยนต์เพื่อให้ท่อลดความดัง เนื่องจากทางอทุยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีกฎระเบียบการใช้เสียงไม่ให้ดังเกิน 95 เดซิเบล

หัวหน้าอุทยานแห่งขาติเขาใหญ่ ระบุว่า รับทราบข้อมูลแล้ว โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เข้มงวดตรวจวัดความดังที่จุดตรวจด่านทั้งสองฝั่ง เมื่อรถจักรยานยนต์รู้ตัวเองว่าทำผิด จึงใช้ฝอยขัดหม้อดันเข้าไปในท่อเพื่อไม่ให้เสียงดังเกิน แต่เมื่อผ่านด่านเข้ามาในเขตอุทยานฯ แล้ว ก็จะทิ้งตามข้างทาง จึงเตรียมดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด

ด้านนายปราโมทย์ เพ็งบำรุง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานฯ เขาใหญ่ บอกว่า ที่ผ่านมาพบฝอยขัดหม้อในเขตอุทยานฯ บ่อยครั้ง จึงกังวลว่าหากช้างป่าเดินผ่านมาและเกิดความสงสัยว่าคืออะไร อาจใช้งวงหยิบใส่ปากได้ และยังส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การตัดหญ้า

อ่านข่าว : เตี้ย ล่ำ ตัน สัญชาตญาณนักล่า "ต่ำ" สุนัขสายพันธุ์อเมริกันบูลลี่

ปัดฝุ่น 34 ปี "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ชาวบ้านห่วงกระทบชุมชน-ป่าไม้

ไขปม "หมาดุ-ก้าวร้าว" แนะวิธีเอาตัวรอดเมื่อถูกกัด


ปลุกผี "แก่งเสือเต้น" 30 ปี แก้น้ำท่วมสุโขทัย

Sun, 1 Sep 2024 18:25:00

เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้งกรณีการรื้อฟื้นสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" กั้นแม่น้ำยมป้องกันน้ำท่วม และกักเก็บน้ำ ทำให้ชาว ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกมาคัดค้าน และเตรียมรวมตัวเคลื่อนไหวใหญ่ในสัปดาห์หน้า

หลังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ออกมาพูดถึงสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ โดยขอให้เป็นประเด็นสาธารณะที่จะพิจารณา 

ปลุกผีแก่งเสือเต้นป้องกันน้ำท่วม 

นายภูมิธรรม บอกว่า ถึงเวลาที่ต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทำการศึกษาอย่างรอบด้านอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.แพร่ และสุโขทัย พร้อมจะประสานเวิลด์แบงก์

ถึงเวลาต้องพูดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาทำอะไรไม่ได้ เพราะยังมีความเห็นต่างสองฝ่าย ระหว่างชาวบ้านที่เผชิญน้ำหลาก น้ำขัง และอีกมุมเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คงไม่มีสิ่งใดที่ได้อย่างเดียว ต้องดูผลกระทบ แต่ขอให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่จะพิจารณาอย่างถ่องแท้

นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ และประธานคณะกรรมการต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บริเวณศาลาวัดดอนชัยหมู่ 1 ต.สะเอียบ เพื่อคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น มีการต่อสู้เรื่องนี้มานาน 30 ปี

ชาวบ้านบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน เพราะจะส่งผลกระทบกับชุมชนนับพันครอบครัว รวมถึงทำลายป่าสักทองนับ 10,000 ไร่ โดยในวันที่ 7 ก.ย.นี้ กลุ่มชาวบ้านในตำบลสะเอียบ เตรียมรวมตัวเคลื่อนไหวอีกครั้ง ด้วยการเผาหุ่นผู้ที่ออกมาให้ความเห็นสนับสนุน 3 คน คือ นายภูมิธรรม นายสมศักดิ์ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี พร้อมจะต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ถึงที่สุด

ไม่ใช่ทางออกแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะมีการบริหารจัดการน้ำภายใต้สะเอียบโมเดล ใช้เป็นแนวทางป้องกันน้ำไม่ให้หลากด้านล่าง

ชี้เขื่อนไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมจ.สุโขทัย

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า ต่อให้มีเขื่อนแก่งเสือเต้นน้ำก็ยังท่วมสุโขทัย เพราะน้ำไม่ได้มาจากลำน้ำยมเพียงอย่างเดียว มีนักวิชาการวิเคราะห์หลายคน หลายสำนักว่าต่อให้มีเขื่อนแก่งเสือเต้น สุโขทัยก็ยังเสี่ยงน้ำท่วมเช่นเดิม แม้จะเก็บกักได้ระดับ

แต่ละปีปริมาณน้ำที่เข้าสุโขทัยมาไม่ได้มาจากแพร่ และหากทุกปียังท่วมอีก คำถามคือมันไม่ได้คุ้มค่าที่จะแลกป่าที่สูญเสียหรือไม่ 

ไทม์ไลน์ 30 ปีเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่แผ่ว

การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกผลักดันมาแล้วในหลายรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2523 ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

หลังจากนั้นในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ผลักดันโครงการอีกครั้ง แต่ก็เผชิญกับเสียงคัดค้าน

โครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำยม หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งมีรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ และผลกระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้านนับพันครอบครัว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ออกมาคัดค้าน และเคลื่อนไหวต่อต้านมายาวนาน 35 ปี

อ่านข่าว :

เร่งซ่อมถนนสาย 195 ศรีสำโรง-สุโขทัย ถูกกระแสน้ำซัดขาด

เช็กจังหวัดเสี่ยง 3-6 ก.ย.นี้ "ร่องมรสุม" มาอีกระลอก


ดรามา ทุบทิ้งโรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโด

Sun, 1 Sep 2024 13:02:00

กรณีนักอนุรักษ์ตั้งข้อสังเกตปมการทุบทิ้งโรงเรียนศิลปะมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งดำเนินงานโดยนายปรีดา เทียนส่งรัศมี มานานกว่า 22 ปี

วันนี้ (1 ก.ย.2567) นายซามูดิง หะยีบือราเฮง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี ชี้แจงว่า คณะวิจัยโครง การศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก เข้ามาศึกษาวิจัยนิเวศวิทยานกเงือกในพื้นที่อุยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตั้งแต่เดือนก.พ.2545

โดยโครงการวิจัยได้ขอความอนุเคราะห์ใช้บ้านพักบ้านปาโจ 2 เป็นที่พักสำหรับทีมงานวิจัยจำนวน 1 หลัง และได้ขอความอนุเคราะห์ ขอจ่ายค่าเช่าที่พักในอัตราเดือนละ 1,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2545 

คณะวิจัยได้ชำระค่าที่พัก ตามที่ได้รับความอนุเคราะห์ จนถึงเดือนก.ย.2552 หลังจากนั้นไม่มีการชำระค่าเช่าแต่อย่างใด

ภาพโรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโด ก่อนรื้อออก (ภาพ:กรมอุทยนแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

ภาพโรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโด ก่อนรื้อออก (ภาพ:กรมอุทยนแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

บ้านพักทรุดโทรม-อาคารศิลปะไม่ขออนุญาต

ส่วนสภาพปัจจุบัน บ้านพักหลังดังกล่าว มีสภาพทรุดโทรม ไม่เหมาะแก่การพักอาศัย ซึ่งอุทยานฯ รายงานสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี ได้มีคำสั่ง ที่ 105/2566 ลงวันที่ 31 ส.ค.2566 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรายการปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี

และคณะกรรมการมีความเห็นว่า อาคารบ้านพักหลังดังกล่าว มีสภาพชำรุด และเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน และอุทยานแห่งชาติได้ดำเนินการจัดทำคำของบประมาณในการซ่อมแซม ตามขั้นตอนและระเบียบแล้ว

สภาพอาคารที่ปรากฏในโพสต์ สร้างโดยเจ้าหน้าที่คณะวิจัยโครงการศึกษาวิจัยนกเงือก ไม่ปรากฏมีการขออนุญาตแต่อย่างใด เป็นอาคารก่ออิฐ หนึ่งด้านเป็นกำแพง ที่เหลือเปิดโล่ง เพื่อใช้เป็นโรงครัว และเป็นที่จัดกิจกรรม ต่างๆ ของคณะวิจัยฯ

ส่วนบริเวณที่เป็นอาคารโรงครัว ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติ มีแผนที่จะจัดสร้างเป็น โรงเรือนเพาะชำกล้าไม้ สำหรับแจกจ่ายแก่ชาวบ้านทั่วไป โดยได้แจ้งประสานให้เจ้าหน้าที่ คณะวิจัยทราบเป็นการล่วงหน้า ก่อนดำเนินการ เป็นที่เรียบร้อย

บ้านพักที่ทีมนกเงือกใช้เป็นที่พักขาดการดูแลรักษาชำรุดทรุดโทรม เตรียมของบซ่อมแซม (ภาพ:กรมอุทยนแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

บ้านพักที่ทีมนกเงือกใช้เป็นที่พักขาดการดูแลรักษาชำรุดทรุดโทรม เตรียมของบซ่อมแซม (ภาพ:กรมอุทยนแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

กรมอุทยานฯ ระบุคณะวิจัยนกเงือกรื้ออาคารเอง 

นอกจากนี้ยังระบุว่า การรื้อถอนอาคารโรงครัว คณะวิจัยศีกษานกเงือก ได้ให้บุคคลเข้ามารื้อถอนด้วยตนเอง อุทยานแห่งชาติไม่ได้ทำการรื้อถอนอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด ในขณะทำการปรับพื้นที่อาคารดังกล่าว

หลังจากมีการรื้อถอนแล้วเสร็จ คงเหลือแต่เพียงเศษปูน และพื้นปูน อุทยานแห่งชาติ จึงเข้าใจว่าคณะวิจัยดำเนินการเรียบร้อย จึงปรับพื้นที่จนแล้วเสร็จตามแผน

โรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโดหลังการรื้อถอน (ภาพ:Preeda Budo)

โรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโดหลังการรื้อถอน (ภาพ:Preeda Budo)

สำหรับการจัดกิจกรรม โครงการวาดภาพของนกเงือก สำหรับนักเรียน หรือเยาวชน ที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติได้ให้การสนับสนุน มาโดยตลอด และมีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรม เช่น อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวหลังเก่า และอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวหลังใหม่ พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อสืบสานเจตนาเดิมทุกประการ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตระหนักดีถึงการร่วมมือทำงานร่วมกันกับมูลนิธินกเงือก เป็นอย่างดีมาตลอด การขอคืนบ้านพักเพื่อทำการปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยเป็นเหตุผลหลัก มิได้มีเจตนา ผลักไสไล่ส่ง เจ้าหน้าที่นักวิจัยนกเงือกแต่อย่างใด 

อ่านข่าว “ปรีดา” ทุ่มเททั้งชีวิตพิทักษ์นกเงือกเขาบูโด

ปรีดา เทียนส่งรัศมี กับเด็กๆที่มาเรียนรู้นกเงือก ผ่านโรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโด (ภาพ:Preeda Budo)

ปรีดา เทียนส่งรัศมี กับเด็กๆที่มาเรียนรู้นกเงือก ผ่านโรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโด (ภาพ:Preeda Budo)

ให้กำลังใจ "ปรีดา" นักวิจัยนกเงือก

ขณะที่เพจเฟซบุ๊กของนายปรีดา Preeda Budo อัปเดตข้อความล่าสุดว่า

ให้เกียรติ ให้อภัย คือหัวใจของผู้กล้า

โดยโพสต์ก่อนหน้านี้เขาระบุว่า เกือบ 30 ปีที่ผมมาทำงานอนุรักษ์นกเงือกที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่คือพี่น้องมุสลิม เราช่วยเหลือเผื่อแผ่มีน้ำใจดีใจที่ได้ร่วมงานกับชาวบ้านที่นี่ จากการทำงานมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งชีวิต ภูมิใจที่หลายคนรู้จักนกเงือก และให้ความสำคัญกับมัน มีคนเห็นคุณค่าและบางองค์กรก็มอบรางวัล เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำงาน และนี่คือรางวัลสุดท้ายที่ อช.ตอบแทนให้กับผม ผมไม่รู้จะขอบคุณอย่างไรดี?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ เคยพูดคุยกับปรีดา เมื่อปี 2562 หลังพบมีกระบวนการล่า"นกชนหิน" ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ตายแล้ว 4 ตัว นำไปสู่การลงชื่อสนับสนุนผ่าน www.change.org  และนำมาสู่การบรรจุเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยลำดับที่ 20 เมื่อปี 2565

ผมมาอยู่ 20 กว่าปี ต้องทำความสัมพันธ์กับชาวบ้านให้เกิดความไว้วางใจและเข้าถึงใจเขา บางทีพูดว่าเปลี่ยนพฤติกรรมมันเหมือนง่าย แต่การทำงานในพื้นที่ไม่ได้ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ ต้องใช้เวลา จิตวิทยา ใช้อะไรสารพัด
ภาพโรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโด ก่อนรื้อออก (ภาพ:กรมอุทยนแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

ภาพโรงเรียนศิลปะมูลนิธินกเงือกป่าบูโด ก่อนรื้อออก (ภาพ:กรมอุทยนแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช)

ขณะที่กลุ่มนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านสัตว์ป่า ตั้งคำถามกับกรณีดังกล่าว และให้กำลังใจนายปรีดาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ ชี้แจงข้อเท็จจริง 

ด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา โพสต์ข้อความผ่าน Rungsrit Kanjanavanit ระบุตอนหนึ่งว่า ตลอดกว่า 20 ปีที่ "ปรีดา" อุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์ นกเงือก และป่าบูโด การทำงาน พื้นที่ในป่าอันทุรกันดาร และต้องทำงานในชุมชนที่วัฒนธรรมที่แตกต่าง

กว่าจะสร้างความไว้ใจกับชุมชนที่มีความโกรธ ความระแวงกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ มันก็ยากเย็นแสนเข็ญอยู่แล้ว การออกมาสื่อสารนี้ สิ่งที่กังวลที่สุดคือการเกิดผลกระทบกับปรีดา และเจ้าหน้าที่โครงการศึกษาวิจัยนกเงือก

ไม่อยากให้ พวกเขา ทำงานในพื้นที่ลำบากไปกว่านี้

แต่ก็อยากให้สังคมวงกว้างรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และหวังเป็นสูงสุดว่าความร่วมมือระหว่างการทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนจะได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง

 


ช้างป่าแก่งหางแมว ทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิต

Sat, 31 Aug 2024 08:51:00

วันนี้ (31 ส.ค.2567) เวลา 03.00 น. นายกิตติชัย รุ่งไพบูลย์วงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ทำหน้าที่ หน.ชุดเคลื่อนที่เร็วฯ ที่ 5 ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ว่ามีช้างป่าทำร้ายชาวบ้าน เสียชีวิต 1 คน

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุบริเวณ ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี พบว่าผู้เสียชีวิตชื่อนายบุดดา อายุ 66 ปี เป็นชาวบ้านในพื้นที่

ญาติให้ข้อมูลว่า เมื่อเวลา 02.30 น. นายบุดดาตื่นและได้ยินเสียงช้างมาหากินใกล้บ้านพัก จึงยืนอยู่ตรงชายคาของบ้าน พร้อมทั้งฉายไฟมองหา ปรากฏว่าช้างป่าตัวผู้ได้พุ่งเข้าทำร้าย และฟาดกระเด็นห่างจากบ้าน 6-7 เมตร ก่อนช้างป่าเดินหนีไป

ทั้งนี้ ชุดเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าบ้านคลองหินเพลิง ได้ติดตามเฝ้าระวังช้างป่าตัวดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ให้ระมัดระวังและงดออกกรีดยาง หรือทำกิจกรรมนอกบ้านก่อน โดยจะเข้าตรวจสอบพื้นที่โดยละเอียดอีกครั้ง

ช้างป่าทำร้ายชาวชลบุรีเสียชีวิต 1 คน ขณะไปกรีดยาง

ในวันเดียวกัน เวลา 06.30 น. นายวีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ได้รับแจ้งเหตุช้างป่าทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิต จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารพราน ชุดปฏิบัติการเขาใหญ่ ร้อยทหารพรานที่ 1306 กรมทหารพรานที่ 13 อาสาเฝ้าระวังช้างป่า ต. ธาตุทอง

จากการตรวจสอบพบผู้เสียชีวิต คือ นายนรงค์ อายุ 60 ปี ชาวบ้าน ต.คลองพลู อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี จากการสอบถามภรรยาผู้เสียชีวิต ระบุว่าเมื่อช่วงเวลา 06.00 น. ตนเองและสามีได้เข้ามากรีดยางในพื้นที่ ระหว่างนั้นได้มีช้างป่าหนึ่งตัววิ่งไล่สามีและเข้าทำร้าย ส่วนตนเองวิ่งหนีไปอีกทาง จากนั้นได้โทรหาผู้นำชุมชนเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามช้างป่าตัวดังกล่าว เพื่อเฝ้าระวังและผลักดันให้กลับเข้าป่าอนุรักษ์

อ่านข่าว : ศึกขัดแย้ง “คน-ช้างป่า” 12 ปียังไม่จบ ระยะทางอีกยาวไกล 

ชันสูตร "ถั่วต้ม" ช้างป่าแก่งหางแมว พบกระสุนฝังตัว-ขา 


"ลูกพะยูน" หลงแม่เกาะปอดะตายแล้ว พบลิ่มเลือดอุดตันหลอดลม

Wed, 28 Aug 2024 20:04:00

วันนี้ (28 ส.ค.2567) ความคืบหน้าพบลูกพะยูน​​​บริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่​ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลือเบื้องต้น ขนย้ายมารักษาและอนุบาลที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ล่าสุดลูกพะยูนได้ตายแล้ว เมื่อเวลา 06.18 น. หลังรักษาและอนุบาล 18 วัน

โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวถึงกรณีลูกพะยูนเกยตื้นที่บริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ ที่ตายหลังจากนำมาอนุบาลว่าตนได้ติดตามข่าวสารและอัพเดทอาการของลูกพะยูนที่เกยตื้นมาโดยตลอด แต่พอได้ทราบรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าลูกพะยูนได้จากไปแล้ว ตนรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้ทีมงานสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทุกคน ที่ได้เสียสละเวลาอันมีค่ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาลูกพะยูนตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับ "พะยูน" เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 การจากไปของลูกพะยูนในวันนี้ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในประเทศที่ต้องตระหนักและร่วมมือร่วมใจกันปกป้อง คุ้มครอง ดูแลพะยูนและแหล่งอาหารรวมถึงที่อยู่อาศัยของพะยูน อยากให้ทุกคนเห็นตรงกันว่า

"การอนุรักษ์พะยูนไม่เพียงแค่เป็นการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องรักษาบ้านของพะยูนซึ่งหมายถึงแหล่งหญ้าทะเลด้วย และเมื่อใดมีแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ ย่อมหมายถึงการมีแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน มีทะเลที่สมบูรณ์"

ดังนั้นมิติของการอนุรักษ์พะยูนจึงเป็นการรักษาความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนในท้องทะเลไทยมาโดยตลอด รวมถึงสานต่อแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติระยะที่ 2 ด้วยการเพิ่มโครงการศึกษาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล อีกทั้งใช้กลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผน การติดตามสถานภาพเฝ้าระวัง ศึกษาพฤติกรรมและถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหายากอีกด้วย

ถึงแม้วันนี้ พะยูนน้อยจะจากพวกเราไปแล้ว แต่เราไม่ได้สูญเสียพวกเขาไปโดยเปล่าประโยชน์ เขาได้ทิ้งองค์ความรู้ในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก พร้อมปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนหันมาใส่ใจในการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งยังมีพะยูนอีกหลายร้อยชีวิตในท้องทะเลไทยที่ต้องการให้พวกเราช่วยกันปกป้องและคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไป

ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ลูกพะยูนตัวดังกล่าวมีปัญหาการทรงตัวและพลัดหลงจากแม่ จึงจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทางเจ้าหน้าที่ ศวอล. จึงได้ประสานงานกับทางอุทยานฯ ในการเข้าพื้นที่ช่วยเหลือเบื้องต้นและขนย้ายมายังที่ทำการอุทยานฯ

การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นเป็นพะยูนเพศผู้ วัยเด็ก คาดว่าอายุประมาณ 2-4 เดือน มีความยาว 102 ซม. น้ำหนัก 113 กก. จากการตรวจร่างกายพบว่าพะยูนอ่อนแรงแต่ยังสามารถขึ้นหายใจได้ พบรอยขีดข่วนบริเวณส่วนจมูกและหัวเล็กน้อย ความสมบูรณ์ของร่างกายค่อนข้างผอม บริเวณตาซ้ายขุ่นและตาจมลึกซึ่งแสดงว่าพะยูนมี ภาวะขาดน้ำ เสียงปอดชื้นเล็กน้อย ลำไส้มีการบีบตัว และพะยูนยังมีความอยากอาหารอยู่

เจ้าหน้าที่ ศวอล. จึงขนย้ายพะยูนตัวดังกล่าวมาอนุบาลสระน้ำขนาดความจุน้ำ 50 ตัน ที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง พร้อมเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยา จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีค่ากลูโคสในกระแสเลือดต่ำต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในเบื้องต้นสัตวแพทย์ได้มีการป้อนนมทดแทนและน้ำเพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำและทางสัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพอย่างละเอียด และปรับสัดส่วนของอาหารทดแทนนม เพื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการโภชนาการของลูกพะยูน โดยให้นมทดแทนสำหรับลูกสัตว์และอิเล็กโทรไลด์ทางการสอดท่อทุก 3-4 ชั่วโมง

ต่อมาวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ลูกพะยูนแสดงอาการซึม ลอยตัวนิ่ง เวลา 21.30 น. ลูกพะยูนแสดงอาการหายใจถี่ขึ้น มีอาการหายใจลำบาก และจมตัวลงพื้นบ่อไม่สามารถทรงตัวได้ ทีมสัตวแพทย์จึงรีบพยุงตัวสัตว์ขึ้นเหนือน้ำ และติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด อัตราการหายใจเฉลี่ย 15-20 ครั้งต่อ 5 นาที การหายใจถี่และสั้น จึงให้ออกซิเจนและยากระตุ้นการหายใจ วัดหัวใจเต้นเบาลง ตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้พบว่ามีการเคลื่อนไหวช้าลง ตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดพบว่า 21 mg/dl บ่งบอกว่าลูกพะยูนพบน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำกว่าปกติอย่างรุนแรง จึงได้ให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดและทางการป้อนยาลดปวดเพื่อพยุงอาการ

จนกระทั่งเวลา 06.18 น. ของวันนี้ (28 ส.ค.) สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ตนได้รับแจ้งจากทีมสัตวแพทย์ว่าลูกพะยูนได้จากพวกเราไปแล้ว โดยทีมสัตวแพทย์ได้รายงานผลชันสูตรการตายของลูกพะยูนว่า น้องมีอาการชักเกร็ง สีเยื่อเมือกซีด หายใจช้าลงผิดปกติ การเต้นของหัวใจเบาลงและการตอบสนองช้าลง จนหยุดนิ่งและเสียชีวิตในที่สุด

จากการชันสูตรซากลูกพะยูนพบว่าเนื้อเยื่อปอดมีเลือดคั่ง และพบลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดลมและแขนงหลอดลมปริมาณมาก บริเวณผนังช่องท้องพบลิ่มเลือดกระจายเป็นหย่อมๆ ส่วนของทางเดินอาหารพบปื้นเลือดออกบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเล็กน้อย สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตายตามธรรมชาติเนื่องจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว

อ่านข่าว : 

ทช.ดูแล 24 ชม. "ลูกพะยูน" หลงแม่เกาะปอดะ ล่าสุดอาการดีขึ้น

ป.ป.ป.ตรวจสอบ 400 ไร่อ้างเอกสารสิทธิ "เกาะราบ"

"ป่าไม้" แจ้งข้อหาวัดดัง "พระใหญ่ภูเก็ต" รุกป่าเขานาคเกิด


ป.ป.ป.ตรวจสอบ 400 ไร่อ้างเอกสารสิทธิ "เกาะราบ"

Wed, 28 Aug 2024 19:22:00

วันนี้ (28 ส.ค.2567) ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) พร้อมเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน เข้าตรวจสอบเอกสารการถือครองที่ดิน จากผู้ประกอบการร้านอาหาร ห้องพัก และธุรกิจท่องเที่ยว บนเกาะราบ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่าเอกสารสิทธิ์ถูกต้องหรือไม่ หลังพบที่ดินบนเกาะ ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์จำนวนกว่า 400 ไร่

ระหว่างตรวจสอบ ผู้ประกอบการบางคนนำหลักฐาน เป็นหนังสือสัญญาเช่าที่ดินธรณีสงฆ์มาแสดง โดยเป็นสัญญาชนิด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท และเมื่อหมดอายุสัญญา สามารถต่อสัญญาได้

พ.ต.อ.สมศักดิ์ เนียมเล็ก รักษาการ ผกก.5 บก.ป.ป.ป. กล่าวว่า การตรวจสอบพบข้อสงสัยว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ เพราะเกาะราบ อยู่ในเขตเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ และไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบที่ดินบนเกาะกว่า 33 แปลง เนื้อที่กว่า 400 ไร่ ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์ และมีการประกาศที่ดิน จึงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง

อ่านข่าว ช็อก! ประกาศขาย "เกาะราบ" อ้างมีเอกสารสิทธิ

เพื่อความโปร่งใส และตอบคำถามให้กับสังคมว่าออกเอกสารสิทธิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องออกขอสารระบบที่ดินทั้งหมดทั้ง สค.1 นส.3 เท่าที่ฟังมาจาก สค.1 ต้องดูภาพถ่ายทางอากาศ แต่ละปีย้อนหลัง 2498 จนถึงวันออกเอกสารสิทธิ
พ.ต.อ.สมศักดิ์ เนียมเล็ก รักษาการ ผกก.5 บก.ป.ป.ป.

พ.ต.อ.สมศักดิ์ เนียมเล็ก รักษาการ ผกก.5 บก.ป.ป.ป.

เกาะราบ เป็นเกาะที่มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ มีความสมบูรณ์สูง อยู่ในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และอยู่ห่างจากฝั่ง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ มีที่ดินครอบคุลม ทั้งเกาะมากกว่า 33 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 400 ไร่

ในจำนวนนี้ มีที่ดิน 185 ไร่ ถูกกันสิทธิครอบครองถูกต้อง หลังพบมีการทำประโยชน์อยู่จริง ส่วนที่เหลือกว่า 300 ไร่ ต่อมาก็ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์ และประกาศขาย

ขณะที่การตรวจสอบเบื้องต้น ทางที่ดินอำเภอเกาะสมุย ชี้แจงว่าที่ดินทั้งหมด ออกเอกสารสิทธิโดยชอบตามกฎหมาย โดยผู้มีกรรมสิทธิล้วนเป็นคนในพื้นที่

อ่านข่าวอื่นๆ

กรมธรณีรับอุปกรณ์พัง เตือน “เขานาคเกิด” ภูเก็ตเสี่ยงดินถล่มซ้ำ

 


"ป่าไม้" แจ้งข้อหาวัดดัง "พระใหญ่ภูเก็ต" รุกป่าเขานาคเกิด

Tue, 27 Aug 2024 18:59:13

กรณีเหตุการณ์ดินถล่มบนเทือกเขานาคเกิด และทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คนจนนำมาสู่การตรวจสอบหาสาเหตุของดินถล่มว่าอาจมาจากการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ของวัดกิตติสังฆาราม (วัดกะตะ) ที่มีการก่อสร้างพระใหญ่บนเทือกเขา

วันนี้ (27 ส.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ กรมป่าไม้ สนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ท้องถิ่น เข้าตรวจสอบวัดพิกัดพื้นที่วัด พร้อมใช้ GPS สัญญาณดาวเทียม เพื่อหาจุดพิกัดพื้นที่ 15 ไร่ ที่ได้มีการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อทำประโยชน์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต

อ่านข่าว ผงะ! เครื่องเตือนดินถล่มเขานาคเกิดปลวกกิน เหตุไม่แจ้งเตือน

เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่วัดพระใหญ่ภูเก็ต

เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่วัดพระใหญ่ภูเก็ต

จากการตรวจพิกัด GPS พื้นที่บนเขานาคเกิด จุดที่ตั้งพระใหญ่ พบว่ามีการใช้ประโยชน์​จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เกินจากที่ขอไว้ และบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อีก 5 ไร่ 19 ตารางวา พบหลักฐานสิ่งก่อสร้าง 6 รายการ มีการก่อสร้างทั้งในส่วนของลานจอดรถ ห้องน้ำ และอาคารบางส่วน

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จังหวัดภูเก็ต แจ้งความดำเนินคดี กับประธานมูลนิธิพระพุทธ​มิ่งมงคลศรัทธา 45 ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ 

อ่านข่าว จ่อรื้อ "พระใหญ่" แลนด์มาร์กรุกเขานาคเกิดดินถล่ม 13 ศพ 

กรมป่าไม้ ส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิดประธานมูลนิธิ ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ  (ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center)

กรมป่าไม้ ส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิดประธานมูลนิธิ ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ (ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center)

ยังรอคำสั่งรื้อ-เปิดภาพจุดบุกรุก

แหล่งข่าวจากกรมป่าไม้ กล่าวว่า ส่วนการขอให้รื้อถอนพระใหญ่ และสิ่งปลูกสร้างบนภูเขา อยู่ระหว่างการเตรียมส่งให้ผู้บริหารพิจารณาและใช้คำสั่งทางปกครองหลังจากวันนี้ ได้มีการเข้าตรวจวัดพิกัดการใช้พื้นที่แล้วพบว่ามีการบุกรุก

ขณะที่ ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center ได้นำภาพจากการตรวจสอบพื้นที่ ระบุว่า ชัดๆ ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความมักง่ายในน้ำมือมนุษย์ เริ่มต้นจาก จุดทิ้งขยะก่อสร้างแผ่นปูนขนาดใหญ่ริมผา

สภาพพื้นบนเขานาคเกิด หลังวัดสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง และเกิดดินถล่มลงมาด้านล่าง (ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center)

สภาพพื้นบนเขานาคเกิด หลังวัดสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง และเกิดดินถล่มลงมาด้านล่าง (ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center)

รวมถึงจุดสร้างบ่อส้วมซึม ซึ่งพอดินชุ่มน้ำทำให้เกิดการยุบตัวสไลด์ลงเกิดเป็นโดมิโนพังลงไปทับบ้านเรือนข้างล่าง โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ใน 15 ไร่ที่มูลนิธิขออนุญาตจากป่าไม้อีกด้วย

อ่านข่าวอื่นๆ

จนท.เร่งฟื้นฟูดินสไลด์ภูเก็ต เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ฝนตกดินสไลด์ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ "ดินถล่ม"


แม่มารับแล้ว "ลูกช้างป่าแก่งหางแมว" พลัดหลงโขลง

Mon, 26 Aug 2024 11:10:00

จากกรณีลูกช้างป่าอายุ 1-2 เดือน พลัดหลงแม่ และวิ่งตามรถที่สัญจรไปมาบริเวณบ้านคลองโป่ง หมู่ 10 ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ช่วงเช้าวานนี้ (25 ส.ค.2567)

ต่อมาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอแก่งหางแมว ผู้นำชุมชน และอาสา ได้ช่วยกันจับลูกช้างไว้ ก่อนจะนำไปไว้ในกรงบริเวณชายป่า ใกล้กับสำนักสงฆ์ เพื่อให้แม่ช้างได้ยินเสียงร้อง และออกมารับตัว

ต่อมาเวลา 23.30 น. เจ้าหน้าที่พบโขลงช้างขนาดใหญ่ ที่มีช้างจำนวน 27 ตัว เดินและวิ่งไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่กันลูกช้างไว้

เวลา 23.45 น.เจ้าหน้าที่พบว่า ช้างโขลงดังกล่าวเดินมารับลูกช้างที่คอก บริเวณสำนักสงฆ์ก่อนจะพากันเดิน-วิ่งเข้าป่าไป

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตลอดทั้งคืนเจ้าหน้าที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของโขลงช้างอย่างใกล้ชิด โดยใช้เทคโนโลยีโดรนเข้าช่วยในการสำรวจพื้นที่ และสังเกตพฤติกรรมของช้าง ทำให้สามารถติดตามและประเมินสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด และวางแผนการช่วยเหลือที่เหมาะสม

สัญชาตญาณของสัตว์ เมื่อเปิดโอกาสให้ลูกช้างส่งเสียงร้อง โขลงช้างก็ได้ตอบรับ และแม่ช้างได้เข้ามารับลูกกลับไปรวมฝูงอย่างปลอดภัย

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า การช่วยเหลือลูกช้างในครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานและคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกช้างจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้ตามธรรมชาติ

อ่านข่าว : ลูกช้างป่าพลัดหลง วิ่งตามรถที่สัญจรไปมา จนท.ช่วย รอแม่มารับ 


ลูกช้างป่าพลัดหลง วิ่งตามรถที่สัญจรไปมา จนท.ช่วย รอแม่มารับ

Sun, 25 Aug 2024 12:12:00

วันนี้ (25 ส.ค.2567)  นายคำนึง โชติกูล รักษาการ อุทยานแห่งชาติ เขาสิบห้าชั้น รายงานว่า
วันนี้เวลาประมาณ 07.00 น. ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบลูกช้างป่าวิ่งตามรถที่สัญจรไปมา บริเวณบ้านคลองโป่ง หมู่ 10 ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี พิกัด 4E 1448801N คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เจ้าหน้าที่ ขสป.เขาสอยดาว จนท.ปกครองอำเภอแก่งหางแมว ผู้นำชุมชน และอาสา จึงร่วมกันจับลูกช้างให้อยู่ในกรงเพื่อความปลอดภัย

จากการตรวจสอบสอบถามเบื้องต้นได้ความว่า ลูกช้างพลัดหลงจากแม่ ซึ่งมีอายุประมาณ 1-2 เดือน
และต่อมาได้ยินเสียงช้างใหญ่ร้อง เข้าใจว่าแม่ช้างคงมาตามหาลูกช้าง เบื้องต้นได้จัดทำกรงเพื่อพาลูกช้างไปวางไว้บริเวณดังกล่าวชายป่าบริเวณที่ได้ยินเสียงข้างร้อง เพื่อรอให้แม่ช้างออกมารับต่อไป

และได้สั่งการให้ทีมสัตว์แพทย์ จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า(กระบกคู่) เข้าตรวจสอบสุขภาพลูกช้างแล้ว
ส่วนความคืบหน้าได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ อช.เขาสิบห้าชั้น คอยสังเกตการห่าง ๆ ว่าจะมีแม่ช้างออกมารับลูกช้างหรือไม่ หากท้ายที่สุด ประมาณ 3-4 คืน หากแม่ช้างไม่ออกมารับลูกช้างก็จะได้ขนย้ายมาดูแลที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) อ.ท่าจะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ต่อไป

อ่านข่าว : ดรามา! โปรยเมล็ดตะแบกนากลางป่าแก่งกระจาน

ฮือฮา "พลายงาทอง" ไร้งาคืนเขาใหญ่ "วันแม่" เตือนตกมัน

แจงปม "แก๊งผลไม้" ช้างเขาใหญ่พลิกรถแค่หาอาหาร