"Spot Check" ช่องโหว่ส่วยทางหลวง

Wed, 4 Sep 2024 21:26:00

วันนี้ (4 ก.ย.2567) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า จากกรณีตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่วมบูรณาการกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. นำกำลังบุกตรวจค้น 11 เป้าหมาย ในพื้นที่ 7 จังหวัด พร้อมหมายจับเข้าควบคุมตัวนายนพดล และ นายเอนก เจ้าหน้าที่รัฐ ในสังกัด กรมทางหลวง และพลเรือนอีกหนึ่งคน ร่วมกันเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุก แลกกับการบรรทุกน้ำหนักเกินโดยไม่ถูกเอาผิด

พร้อมยอมรับว่า รูปแบบส่วนสติ๊กเกอร์ที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้มีจำนวนการจับกุมที่ลดลงเนื่องจากการตรวจเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงที่ถูกจับกุมนั้น เบื้องต้นมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว และจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อขยายผลต่อไป

สปอร์ตเช็กจุดรอยรั่วส่วยทางหลวง

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การปฏิบัติงานตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินโดยหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (spot check) เป็นจุดที่แตกต่างกับระบบการตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุกขณะรถวิ่ง หากพบว่ารถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือ Weight In Motion (WIM) เนื่องจาก WIM จะถูกติดตั้งเป็นด่านถาวร เมื่อรถบรรทุกวิ่งเข้าด่าน ระบบจะมีการตรวจน้ำหนักว่าบรรทุกเกินหรือไม่ และจะมีกล้องบันทึกป้ายทะเบียนรถ หากบรรทุกน้ำหนักเกินก็จะแจ้งมายังกรมทางหลวง และมีการบูรณาการความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในเรื่องของระบบ GPS นำมาใช้ร่วมกับระบบ WIM เพื่อติดตามรถบรรทุกที่คาดว่าจะมีน้ำหนักเกิน และดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย

แต่ยอมรับว่า สปอตเช็ก คือช่องโหว่ของการตรวจจับน้ำหนักเกิน เพราะเมื่อเป็นหน่วยเคลื่อนที่ก็ทำให้มีโอกาสระหว่างเจ้าหน้าที่และคนขับที่อาจจ่ายส่วยได้ แม้จะมีความเสี่ยงแต่สปอตเช็ก ยืนยันว่า จำเป็นต้องมี เพราะไม่สามารถตั้งด่านตรวจจับน้ำหนักเกินได้ทุกเส้นทาง เพราะยังมีเส้นทางหลบเลี่ยง วิธีการแก้ปัญหา มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ ทั่วประเทศ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความคุ้นเคยของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการขนส่งเพื่อป้องกันโอกาสการทุจริต

“วันนี้ถามว่ารู้ว่ามีคนทำผิดไหมบอกว่ามี แต่คนที่คนที่รู้ก็ต้องแจ้งมาชัดๆ จะมีหลักฐานไปแอบถ่ายคลิปมาก็ได้นะครับ สำหรับความยากในการตรวจสอบ มองว่า คือมันจะเป็นอย่างนี้ครับ ทำไมเขาต้องให้เงินถ้าไม่ได้บรรทุกน้ำหนักเกิน คนรับก็ถือว่าผิด และคุณเป็นคนให้เงินก็ถือว่า ทำผิดมันก็ผิดทั้งคู่ ถ้าโดนก็โดนทั้งคู่”

เพราะฉะนั้นก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การจับยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามขอให้มีหลักฐานชัดเจน หรือหากมองว่าคนนี้มีพฤติกรรมขอให้แจ้งก็จะส่งต่อไปเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและนำไปสู่การจับกุมต่อไป

ระบบ WIM ดีกว่าแต่ใช้งบมากกว่า

แม้ว่าระบบ WIM จะดีกว่า แต่ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวนมาก 1 แห่ง อาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 20 ล้านบาท จึงไม่สามารถติดตั้งทั่วประเทศได้ ขณะเดียวกันก็จะมีการคัดกรองการตรวจสอบ เพราะไม่สามารถให้รถบรรทุกทุกคันเข้าตรวจสอบที่ด่านได้ เนื่องจากมีรถจำนวนมากและอาจมีปัญหาจราจรหน้าด่านได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์ ก็มีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ตรวจสอบหากพบว่าใครมีพฤติกรรมไม่ดีจะไม่ให้ออกตรวจ

ขณะเดียวกันยังได้หารือกับสำนักงบประมาณ ซึ่งได้งบประมาณมากกว่าปี 2568 เพื่อตั้งจุดตรวจรถบรรทุกใน กทม. โดยเตรียมติดตั้งจุดตรวจรอบนอก กทม.อีก 10 จุด เพื่อตรวจสอบรถบรรทุกที่เข้าออกไม่ให้บรรทุกเกินน้ำหนัก

ขณะที่ผลการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของสถานีตรวจสอบน้ำหนักและหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จากทุกสถานีฯ และหน่วยเฉพาะกิจส่วนกลาง ทำการออกสุ่มตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะทั่วประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ต.ค.2566 - 1 ก.ย.2567) จับกุมรวมได้ 2,611 คัน

ซึ่งมีสถิติรถบรรทุกเข้าชั่งน้ำหนักที่สถานีฯ ปีงบประมาณ 2567 ถึงวันที่ 31 ส.ค.2567 จำนวน 30,818,812 คัน จับกุมที่สถานีได้ 1,279 คัน คิดเป็นอัตราส่วนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน อยู่ที่ 4.2 คัน/100,000 คัน

และการปฏิบัติงานตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินโดยหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (spot check) ในปีงบประมาณ 2567 มีการเรียกตรวจสอบรถบรรทุกจำนวน 33,167 คัน มีการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินจำนวน 1290 คันคิดเป็น 3.9%

รถบรรทุก ที่มีน้ำหนักเกินมากกว่า 10 ตัน ขึ้นไป เทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 และ 2567
-ปี 2566 จับกุม 3,149 คัน รถบรรทุกน้ำหนักเกินมากกว่า 10 ตัน จำนวน 231 คัน คิดเป็น 7.3 %
-ปี 2567 จับกุม 2,599 คัน รถบรรทุกน้ำหนักเกินมากกว่า 10 ตัน จำนวน 355 คัน คิดเป็น 13.6 %

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนน้ำหนักเกิน 10 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6.3 %

อ่านข่าว : 

ตร.ให้ประกัน 3 ผู้ต้องหาเรียกรับเงินรถบรรทุก-ขยายผลจับเครือข่าย

รวบหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนักวังน้อย เก็บส่วยรถบรรทุก พบโยงบัญชีม้า


หวั่นน้ำท่วม ทำเศรษฐกิจพัง 8 พันล้าน กกร.จ่อยื่นรัฐช่วยแก้วิกฤต

Wed, 4 Sep 2024 16:21:00

วันนี้ (4 ก.ย.2567) นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางชัดเจน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

โดยกกร. เตรียมสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอของภาคเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยเป็นสมุดปกขาวให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในประเด็นเกี่ยวข้อง เนื่องจากขณะนี้ มีหลายปัญหาที่รอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ

กกร.มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งมีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 7 เดือนแรกกว่า 757 แห่ง มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่

นายพยง กล่าวว่า มีการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนเพื่อทำเป็นสมุดปกขาวจะเป็นตัวช่วย เป็นแนวทางให้รัฐบาลในการเดินหน้าและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจ 2567 การขยายตัวเศรษฐกิจ กกร.ประเมินไว้อยู่ที่ 2.2-2.7% ขณะที่การส่งออกได้มีการปรับคาดการณ์อยู่ที่ 1.5-2.5% จากเดิม 0.8-1.5% ส่วนเงินเฟ้อยังคงอัตราเดิมอยู่ที่ 0.5-1.0%

ทั้งนี้ กกร.ประเมินเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง เครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือนส.ค.ของประเทศหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างหดตัว โดยสหรัฐส่งสัญญาณพร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ค่าระวางเรือยังสูงกว่าภาวะปกติ 3 เท่าตัว เป็นปัจจัยลบต่อการค้าโลก

ประธานกกร. กล่าวอีกว่า กกร.มีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน คาดว่ามูลค่าความเสียหายช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะอยู่ที่ 6,000-8,000 ล้านบาท หรือ 0.03-0.04% ของจีดีพี ซึ่งภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด

ต้องติดตามพายุที่อาจจะเข้าได้ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ที่ประชุมมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำและอุทกภัยที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม นอกเหนือจากอุปสงค์ภายในประเทศของไทยยังอ่อนแรงสะท้อนจากการลงทุน แม้รัฐจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเติบโตเฉลี่ยได้กว่า 20% ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจไตรมาส 2/2567 ยังชะลอตัว

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากถึง 6.8% เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงถึง 24% ส่วนการลงทุนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอ สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับลดลงต่อเนื่อง กกร.จึงยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 2.2-2.7%

กกร.มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานย่อยจัดทำข้อเสนอด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเสนอต่อภาครัฐ โดยเน้นการวางแผนระยะยาวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยเหมือนปี 2554

โดยจะเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้การบริหารน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ

อ่านข่าว:

 ขุมทรัพย์“เบนิน” เส้นทางผ่านส่งออก“ข้าวไทย” สู่ ทวีปแอฟริกา

 “ทองคำ” ลง 100 บาท “ทองรูปพรรณ” ขายออก 39,628 บาท

กรุงศรี ชี้เศรษฐไทยขยับ เร่งดัน "ท่องเที่ยว-ส่งออก" ฟื้นเชื่อมั่น

จี้รัฐบาลแพทองธาร เร่งแก้ค่าเงินผันผวน ดันไทยสู่ชาติการค้า


ขุมทรัพย์“เบนิน” เส้นทางผ่านส่งออก“ข้าวไทย” สู่ ทวีปแอฟริกา

Wed, 4 Sep 2024 12:27:00

“เบนิน” ประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ถูกจัดให้เป็นประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีจำนวนประชากรประมาณ 12 ล้านคน แต่เชื่อหรือไม่ว่า เบนินเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญเป็นอันดับที่ 2 ของไทยในตลาดโลก ระหว่าง ปี 2562-2567 ไทยส่งออกข้าวไทยไปแล้วจำนวน 2,393,442 ตัน แต่ปัจจุบันการส่งออกไปแอฟริกาลดลง เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง อย่าง อินเดีย และเวียดนาม

หากเอ่ยถึงสาธารณรัฐเบนิน อาจจะไม่คุ้นหูแต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร จะคุ้นเคยกับประเทศเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่ประมาณ 10.47 ล้านไร่ ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ที่มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับไนเจอร์ และบูร์กินาฟาโซ ทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวกินี ทิศตะวันออกติดกับไนจีเรีย และทิศตะวันวันตกติดกับโตโก มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 125 กิโลเมตร

“เบนิน” ยักษ์จิ๋วแอฟริกา คู่ค้าไทย

ข้อมูลจาก World Bank ปี 2563 รายงานว่า เบนินมีประชากร 12 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน 99% ซึ่งเป็นชนเผ่าต่าง ๆ ถึง 42 ชนเผ่า ทั้งนี้เบนินเป็น 1 ในประเทศ ผู้ก่อตั้ง Economic of Community of West African States (ECOWAS) และยังเป็นสมาชิกองค์กรเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างภูมิภาคหลายองค์กรในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเคยเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่งผลให้ฝรั่งเศสกลาย เป็นพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญของเบนิน

แม้เบนินจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็มีการทำการค้ากับประเทศอื่น ๆ รวมทั้ง ไทย โดยมีการซื้อขายสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2551 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเบนิน คือ ข้าว ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์พลาสติก หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผ้าปักและผ้าลูกไม้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวให้สาธารณรัฐเบนิน มาอย่างต่อเนื่อง

โดยช่วงพีคสุดตั้งแต่ปี 2562-2567 ไทยส่งออกข้าวไปยังตลาดเบนินสูงถึงจำนวน 2,393,442 ตัน มีทั้ง ข้าวขาว ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมไทย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพียง 0.6 ล้านไร่ หรือ 0.93 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งระหว่างปี 2561/62 และ 2565/66 และสามารถผลิตข้าวเฉลี่ยปีละ 0.30 ล้านตันเท่านั้น

ในปี 2565/66 เบนินผลิตข้าวได้เพียง 0.33 ล้านตัน เนื่องจาก ข้าวไม่ใช่อาหารหลักของชาวเบนิน จึงทำให้ผลผลิตข้าว มีปริมาณค่อนข้างคงที่ ไม่มีการเพิ่มพื้นที่เพื่อเพาะปลูก แต่จะบริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลัก จึงมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมากที่สุด

แต่ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคข้าวของชาวเบนินเพิ่มขึ้น ซึ่งนำข้าวมาปรุงเป็นอาหารได้ง่ายและชนิดข้าวที่นิยมบริโภค คือข้าวขาว และข้าวหอม และส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าข้าวและมีวางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ขณะที่ผลผลิตข้าวภายในประเทศมีไม่มากนัก เนื่องจากไม่ใช่อาหารหลักของประเทศ จึงไม่ปรากฏข้อมูลการส่งออกข้าวเบนิน อีกทั้งประชากรเบนินไม่นิยมบริโภคและเห็นว่าข้าวที่มีคุณภาพต่ำ

“อินเดีย” คู่แข่งไทย ส่งออกข้าว “เบนิน”

ข้อมูลจากกรมศุลกากร รายงานว่า นับตั้งแต่ 2562 -2566 พบว่า เบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียมากที่สุด รวม 3,387,540 ตัน รองลงมาเป็นประเทศไทย ปริมาณ 2,393,325 ตัน และเอมิเรตส์ ปริมาณ 732,981 ตัน สิงคโปร์ ปริมาณ 208,970 ตัน โตโก ปริมาณ 101,674 ตันและประเทศอื่น ปริมาณรวม 441,820 ตัน

ในขณะที่ไทย แม้จะมีการส่งออกข้าวไปยังเบนิน ตั้งแต่ปี 2562-2566 แต่กลับพบว่า ประเภทข้าวที่ส่งออกสูงสุด คือ ข้าวนึ่ง จำนวน 1,841,855 ตันเฉพาะปี 2562 ไทยส่งออกข้าวนึ่งไปมากถึง 774,152 ตัน เนื่องจากประเทศแถบทวีปแอฟริกานิยมข้าวชนิดนี้

โดยข้าวนึ่ง เป็นข้าวที่ได้มาจากการแช่ข้าวเปลือกในน้ำ จากนั้นจึงนำไปนึ่งหรือต้มจนสุกในระดับหนึ่ง แล้วจึงนำไปอบ หรือตากให้แห้ง ซึ่งข้าวนึ่ง มีวิตามินและแร่ธาตุที่สูง เนื่องจากการแช่ข้าว จะทำให้สารอาหารจากเปลือกซึมเข้าสู่เมล็ดข้าว เมื่อมีการสีเอาเปลือกออก สารอาหารจึงไม่หลุดไปกับเปลือกข้าว

รองลงมาเป็นข้าวขาว ปริมาณ 517,743 ตัน และข้าวหอมมะลิไทย ปริมาณ 30,437 ตันและ ข้าวหอมไทย ปริมาณ 23,950 ตัน โดยปี2562 ไทยส่งออกข้าวไปเบนิน มากสุดปริมาณรวม 1,066,581 ตัน โดยสาเหตุที่ไทยส่งอกข้าวไปเบนินมาก

เนื่องจากมีการพยากรณ์เกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในบางประเทศของภูมิภาคเอเชียทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง และอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ เช่น จีน อินเดีย นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 2019 ทำให้ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าอาหารกักตุนมากขึ้น ประกอบกับความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้นในบางประเทศ

แต่หลังจากนั้นปริมาณส่งออกข้าวไทยไปตลาดเบนินลดลง เนื่องจากเบนินหันไปนำเข้าข้าวจากอินเดียเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 พบว่าเบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียพุ่งสูงถึง 1,071,686 ตัน ในขณะที่นำเข้าข้าวจากไทยเพียง 138,206 ตันเท่านั้น เนื่องจากราคาข้าวของอินเดียและปากีสถานถูกกว่าข้าวไทย

อินเดีย-ปากีสถาน ชิงตลาดข้าวไทย

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า ไม่มีข้อมูลปรากฏว่าเบนินส่งออกข้าว เนื่องจากผลผลิตมีไม่เพียงพอและไม่ใช่อาหารหลักของประเทศ ดังนั้นเมื่อผลิตไม่เพียงต่อการบริโภค เบนินมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศทั้งเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง

ข้อมูลตั้งแต่ปี 2560-2564 พบว่า เบนินนำเข้าข้าวเฉลี่ยปีละ 2.14 ล้านตัน และปี 2564 ลดการนำเข้าข้าวเหลือ 1.59 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากอินเดีย 56% รองลงมาเป็นไทย 24% เอมิเรตส์ 10% สิงคโปร์และปากีสถาน 3% ซึ่งเป็นการนำเข้าสูงกว่าการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากเบนินนำเข้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง

เบนินถือว่าเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในทวีปแอฟริกา ซึ่งไทยส่งออกข้าวไปเบนินมากสุดเป็นอันดับ 2 รองจากแอฟริกาใต้ แต่ปี 2563-2564 การส่งออกข้าวไทยเจอปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า ประกอบค่าขนส่งและค่าระวางเรืออยู่ในระดับสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สูงและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดเบนิน

เบนินลดการนำเข้าข้าวจากไทย เห็นได้จาก ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกข้าวไปเบนินเพียง 59,808 ตันเท่านั้น และปี2566 ส่งออกไปเพียง 139,206 ตัน ลดลงกว่าครึ่งเทียบกับปี2565 สาเหตุหลักๆ มาจากเรื่องราคา

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวอีกว่า นโยบาย มาตรการ และกฎระเบียบของการค้าข้าวระหว่างประเทศ พบว่า เบนินมีอัตราภาษีและอุปสรรคทางการที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากรัฐบาลเบนินต้องการลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกกับผู้นำเข้าในประเทศ ให้สามารถนำเข้าและส่งออกต่อสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อย่าง กลุ่มประเทศซาเฮล ที่ตั้งอยู่บริเวณทะเลทรายสะฮารา ประกอบด้วย เซเนกัล มอริเตเนีย มาลี บูร์กินนาฟาโซ แอลจีเรีย ไนเจอร์ ชาด แคเมอรูน ซูดาน และเอริเทเรีย ที่นำเข้าจากเบนินอย่างต่อเนื่อง

ข้าวไทย “แพง-เสี่ยงภาษีสูง” ทำส่งออกลดลง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย อธิบายว่า เหตุที่ไทยส่งออกข้าวไปเบนินลดลง แม้ว่าอินเดียจะแบนการส่งออกข้าวขาว และขึ้นภาษีข้าวนึ่ง 20% แต่ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยไปตลาดเบนินมากนัก เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง และยังคงนำเข้าข้าวจากอินเดีย แม้ว่าอินเดียจะขึ้นภาษีแต่ก็ถือว่ายังมีราคาที่ถูกกว่าข้าวไทย

เบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียเพื่อส่งออกต่อไปยังไนจีเรีย เพราะเบนินไม่มีพื้นที่ปลูกข้าวมาก และไม่นิยมบริโภคข้าว ประกอบกับไนจีเรียมีกฎหมายห้ามนำเข้าข้าว ทั้ง ๆ ที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นเหตุผลทางการเมือง ดังนั้นไนจีเรียต้องนำเข้าข้าวผ่านเบนินปีละล้านตัน แต่ข้าวส่วนใหญ่มาจากอินเดียไม่ใช่ของไทย ดังนั้นที่ผ่านมาตลาดลักของข้าวไทย คือแอฟริกา

นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ด้วยกฎหมายของไนจีเรียและเบนินที่ยังไม่เปิดกว้าง ประกอบกับความมั่นใจในเรื่องของการจ่ายเงิน ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่จะไปตั้งบริษัทที่ไนจีเรีย หรือ เบนินต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และส่วนใหญ่โมเดิร์นเทรด จะเป็นกลุ่มทุนจากยุโรป ที่มาซื้อและส่งออกไปยังแอฟริกา

ผู้ประกอบการไทย ยังไม่มั่นใจ เพราะที่นั่น ไม่มีความมั่นคงทั้ง เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน และการจ่ายเงินซึ่งค่อนข้างเสี่ยง และผู้ประกอบการไทยจึงไม่อยากเสี่ยง เพราะเกรงจะสูญเงิน นอกจากนี้สถาบันการเงินไทย ไม่มีกล้ารับประกันการซื้อ-ขายที่มาจากประเทศเหล่านี้ ส่งผลให้ไทยเสียส่วนแบ่งในตลาดข้าวที่เคยขายให้เบนินและไนจีเรีย ให้กับอินเดีย

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุเบนินเป็นประเทศยากจน แต่สามารถสั่งซื้อข้าวไทยเป็นอันดับ 2 ของโลก อาจเป็นใช้ตลาดข้าวเพื่อฟอกเงินของกลุ่มทุนหรือนั้น แหล่งข่าวคนเดิม อธิบายว่า การใช้เบนินเป็นเส้นทางฟอกขาวหรือส่งออกข้าวไปขายในราคาถูก แล้วซื้อกลับมาขายในประเทศอื่นๆในราคาต่ำกว่า ไม่มีใครทำ เพราะราคาข้าวในปัจจุบันไม่ได้สูงและข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งประกอบกับเบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่และยังราคาถูกกว่าไทยมาก เชโดยเฉพาะข้าวนึ่งถูกกว่าข้าวไทยถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ต้องลุ้นว่า อินดียจะประกาศยกเลิกจำกัดการส่งออกเมื่อไหร่ การที่อินเดียแบนการส่งออกข้าวส่งผลดีต่อไทยระยะสั้นๆ แต่หากข้าวฤดูกาลใหม่ของอินเดียที่จะออกประมาณพ.ย. และน่าจะเป็นครอปที่ดีแม้ปริมาณจะลดลง แต่ถือว่าเป็นครอปใหญ่ อาจทำให้อินเดียยกเลิกแบนส่งออกข้าว ซึ่งจะทำให้ทั้งไนจีเรียและเบนินลดการนำเข้าข้าวไทยลงได้

เส้นทางผ่าน “ส่งออก”ข้าวไทยสู่แอฟริกา

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกข้าวยังเบนิน ส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศที่ 3 กลุ่มประเทศ แอฟริกา ไนจีเรีย เซเนกัล มอริเตเนีย มาลี บูร์กินนาฟาโซ แอลจีเรีย ไนเจอร์ ชาด แคเมอรูน ซูดาน และเอริเทเรีย มีหลายบริษัท เช่น ไร้ซ์แลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล,เอเซีย โกลเด้น ไรซ์,แสงฟ้าอะกริโปรดักส์,สยามโกลเด้นไรซ์,สยามโกลเด้นไรซ์,

และโรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์,กำแพงเพชร เอ็กซ์ปอร์ต,มาริน่า เซนเทอร์,โกลเด้น แกรนารี่,โอเรียนทัล โปรดิวซ์,ไทย แกรนลักซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไรซ์,พงษ์ลาภ,เยนเนอรัล มิลล์ คอร์ปอเรชั่น,เอเชีย อินเตอร์เทรด ไรซ์ เอ็กซ์ปอร์ต,ซี.พี.อินเตอร์เทรด,ไทยฟ้า (2511),โอแลม (ประเทศไทย),โกลบอล พรีเชียส ไรช์,และข้าวสุวรรณภูมิ

ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่า 5 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค-พ.ค.) พบว่า อินเดีย ส่งออกข้าวไปเบนิน ปริมาณลดลง ลดลง 31 % หรือ 562,551 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 820,457 ตัน ขณะที่อันดับ 1 คือ ซาอุดิอาระเบีย ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น 18% หรือ 741,043 ตันในปีนี้

ทั้งนี้ไทยมีเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้ไว้ที่ปริมาณ 8.2 ล้านตัน มูลค่า 191,000 ล้านบาท หรือ 5,300 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ 1.3 ล้านตัน ข้าวหอมไทย 0.5ล้านตัน ข้าวนึ่ง 0.8 ล้านตัน ข้าวขาว 5.3 ล้านตัน และข้าวเหนียว 0.3 ล้านตัน

โดยมีการคาดการณ์ ปริมาณผลผลิตข้าวจากประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ ปี 2567 มีปริมาณรวม 520 ล้านตันข้าวสาร และปี2568 ทุกประเทศมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมมีปริมาณ 528 ล้านตันข้าวสารเพิ่มขึ้น 1.4 % แบ่งเป็น จีน ปี 2568 ปริมาณเพิ่มขึ้น 1% หรือ 146 ล้านตันข้าวสาร อินเดีย ปริมาณ 138 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.7 % บังกลาเทศ ปริมาณ 38 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 2.7% อินโดนีเซีย ปริมาณ 34 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 3% เวียดนาม ปริมาณเท่าเดิมกับปีนี้ที่ 27 ล้านตันข้าวสาร และไทย เพิ่มขึ้น0.5% หรือ 20.10ล้านตันข้าวสาร

ขณะที่ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 12.60 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 1.6% เมียนมา ปริมาณ 12.10 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 1.3% ปากีสถาน ปริมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น1.3% บราซิล ปริมาณ 7.50 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 7.1% และปีระเทศอื่น ปริมาณรวม 82.77 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้น 2.3% ทั้งนี้สาเหตุที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีหน้าสถานการณ์คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก จากลานีญา

โดยอินเดียยังคงผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลก มีการคาดการณ์ว่า ปีนี้อินเดียจะส่งออกได้ 17 ล้านตันข้าวสาร แม้ว่าอินเดียจะแบนการส่งออกข้าว และปี2568 อินเดียจะยังคงเป็นแชมป์ส่งออกข้าว ปริมาณ 18 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่ไทยและเวียดนาม ปีหน้าคาดว่าจะมีปริมาณส่งออกข้าวเท่ากันที่ 7.50ล้านตันข้าวสาร

ส่วนประเทศผู้นำเข้าข้าวในตลาดโลก ปี 2568 ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวเบอร์หนึ่ง ปริมาณ 4.70 ล้านตันข้าวสาร รองลงมาเป็นเวียดนาม 2.95 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 7.3% ซึ่งเวียดนามจะนำเข้าข้าวเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สามอีกที ในขณะที่เบนิน อยู่อันดับที่ 17 ที่เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวจากไทย ซึ่ง 6 เดือนของปีนี้ เบนินนำเข้าข้าวไทยเพียง 61,940 ตันเท่านั้น

ประเทศ “ยักษ์เล็ก” แบบเบนิน แม้จะเป็นที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าประเทศ ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปริมาณการนำเข้าข้าว จากไทย อินเดีย และปากีสถาน กลับสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก น่าสนใจว่า เส้นทางการเป็น “ฮับ”ข้าวโลก มีเบื้องหน้า-เบื้องหลัง? หรือไม่

 อ่านข่าว:

ชาวนาม้วนเสื่อ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" โปรเจกต์ใหม่"รัฐบาล"ไม่ได้ไปต่อ

ปิดตำนาน ข้าวสาร 10 ปี ส้มหล่น“ทรัพย์แสงทอง ไรซ์-สหธัญ ”

ชาวนาเมิน โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” อยากได้ไร่ละพันกลับคืน


“ทองคำ” ลง 100 บาท “ทองรูปพรรณ” ขายออก 39,628 บาท

Wed, 4 Sep 2024 10:29:00

วันนี้ (4 ก.ย.2567) เว็บไซต์ "ฮั่วเซ่งเฮง" วิเคราะห์ภาพรวมเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 จากแรงกดดันเงินดอลลาร์แข็งค่า Dollar index แตะ 101.91 แม้ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค.โดย ISM เพิ่มขึ้น 47.2 น้อยกว่าตลาดคาด อย่างไรก็ตามนักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ ส่วนกองทุน SPDR ถือครองทองคำเท่าเดิม

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม หรัฐจะเปิดเผยดุลการค้าเดือนก.ค. ตลาดคาดว่าจะขาดดุล 78.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากขาดดุล 73.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค.

"ฮั่วเซ่งเฮง" วิเคราะห์ราคาทอง อาจมีการฟื้นตัวระยะสั้น หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลงแรงเข้าใกล้แนวรับ 2,470 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม สัญญาณทางเทคนิคใน Timeframe DAY จาก Modified Stochastic และ MACD ยังคงบ่งชี้การปรับตัวลง ทั้งนี้หากราคาทองคำฟื้นตัวไปยังบริเวณแนวต้าน 2,500-2,507 ดอลลาร์ แล้วไม่ผ่านอาจมีแรงเทขายออกมา

โดย ราคาทองตลาดโลกแนวรับ : 2,480 และ 2,470 ดอลลาร์ แนวต้าน : 2,500 และ 2,507 ดอลลาร์ หากเก็งกำไรระยะสั้น สามารถเปิด Short position บริเวณ 2,500-2,507 ดอลลาร์ เมื่อราคาทองคำฟื้นตัวมาบริเวณดังกล่าว โดยมีจุดตัดขาดทุนที่ 2,520 ดอลลาร์ และ Take profit บริเวณ 2,470-2,480 ดอลลาร์

ส่วนราคาทองคำแท่ง 96.5% ในประเทศ แนวรับ : 40,350 และ 40,250 บาท แนวต้าน : 40,500 และ 40,600 บาท ราคาทองคำแท่งยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากมีทั้งปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังดอลลาร์แข็งค่า แต่ปัจจัยลบจากราคาทองคำโลกปรับตัวลง ทั้งนี้คาดว่าราคาทองคำแท่งยังคงติดบริเวณแนวต้าน 40,600-40,650 บาท หากทะลุผ่านแนวต้านดังกล่าวได้ ค่อยเข้าซื้อ

สำหรับราคาทองวันนี้เปิดตลาด ปรับลง 100 บาท ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งขายออกบาทละ 40,450 บาท และราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 40,350 บาท ราคาทองรูปพรรณขายออกบาทละ 40,950บาท และราคาทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 39,628.24 บาท ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) อยู่ที่ 2,493 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์

โดยราคาทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จ 500 บาท มีราคาดังนี้ ทองครึ่งสลึง ราคาขาย 5,556 บาท ทอง 1 สลึง ราคาขาย 10,613 บาท ทอง 2 สลึง/50 สตางค์ ราคาขาย 20,725 บาท และทอง 1 บาท ราคาขาย 40,950 บาท

อ่านข่าว:

"ทองคำ" ทำ New High เป้า 2,650 ดอลลาร์ YLG แนะรอจังหวะลงทุน

กรุงศรี ชี้เศรษฐไทยขยับ เร่งดัน "ท่องเที่ยว-ส่งออก" ฟื้นเชื่อมั่น

ธปท.-หน่วยงาน ยกร่างกฎหมายคืนเงินผู้ถูกหลอกโอนเงิน 100%


จี้รัฐบาลแพทองธาร เร่งแก้ค่าเงินผันผวน ดันไทยสู่ชาติการค้า

Tue, 3 Sep 2024 17:58:00

วันนี้( 3 ก.ย.2567) นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกไทยปีนี้ สรท.คาดการณ์จะขยายตัว 1-2 % ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญส่งผลต่อการส่งออกทันที เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาสินค้าของไทยสูงกว่าคู่แข่งส่งผลต่อความสามารถในการแข็งขันที่ลดลงของผู้ประกอบการในประเทศ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นอกจากนี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา ที่ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน ส่งผลให้สินค้าจีนไหลกลับมายังตลาดเอเซีย รวมถึงสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล ค่าระวางเรือยังคงตึงตัวและผันผวนในท่าเรือหลัก ขณะที่เส้นทางภายในเอเชีย และตะวันออกกลาง ค่าระวางเริ่มลดลง แต่ในเส้นทาง สหรัฐ อเมริกาใต้ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ยังคงทรงตัวในระดับสูง เป็นต้น

ประธานสรท.กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้าง ที่รัฐบาลต้องมุ่งเน้นให้ไทยก้าวสู่การเป็นชาติการค้า เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และแข่งขันได้ในระดับสากลรวมถึงพัฒนาการส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้สามารถแข่งขันและเติบโตอย่างมั่นคง

นอกจากนี้ด้านโลจิสติกส์ ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความแออัดท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีมาต่อเนื่อง ประกอบกับค่าน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหายังไม่ได้บรรเทาลงสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นและมีความติดขัดมากขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนที่ผู้ส่งออก – นำเข้าต้องแบกรับ รวมถึงศักยภาพการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง

นายชัยชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเร่งประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท รวมถึงให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก

ในขณะที่ต้นทุนการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบต้องเร่งดำเนินการอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การส่งออกไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนพลังงานและราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเฉพาะค่าระวางเรือเป็นต้น

สำหรับ ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค.-ก.ค. เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว3.8% การนำเข้ามีมูลค่า 177,626.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.4% ส่งผลให้ดุลการค้าไทยขาดดุล 6,615.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 307,935 ล้านบาท

 อ่านข่าว:

ธปท.-หน่วยงาน ยกร่างกฎหมายคืนเงินผู้ถูกหลอกโอนเงิน 100%

จีนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสาเหตุ

70 ได้ลุ้น! กอช.เล็งชง ครม.ชุดใหม่ขยายอายุซื้อ "หวยเกษียณ"


กรุงศรี ชี้เศรษฐไทยขยับ เร่งดัน "ท่องเที่ยว-ส่งออก" ฟื้นเชื่อมั่น

Tue, 3 Sep 2024 16:50:57

วันนี้ (4 ก.ย.2567) ศูนย์วิจัยกรุงศรี วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่าภาคการท่องเที่ยว และส่งออกยังคงเป็นพระเอกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 จากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเดือนก.ค.แต่ความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่ายในประเทศยังอ่อนแอ

ศูนย์วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า แรงส่งจากการใช้จ่ายในประเทศอาจแผ่วลงบ้างในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและรอการจัดตั้งรัฐบาล แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

โดยมีแรงหนุนหลักจาก ภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโต ปัจจัยบวกจากมาตรการวีซ่าฟรีแก่ 93 ประเทศ และก้าวเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทางเทคนิคที่สนับสนุนให้อัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเร่งสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่คาดว่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่น และกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ แต่ยังต้องติดตามความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจรวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะปรับมาเป็นการโอนเงินให้แก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้พิการรวมกันราว 14.5 ล้านคน ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคส่งออก รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วม และปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจชองประเทศขนาดใหญ่ ยังคงมีทิศทางที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆตามกำลังซื้อที่เริ่มกลับมา เช่น สหรัฐฯที่เตรียมปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากร่วงลงติดต่อกัน 4 เดือน

ศูนย์วิจัยกรุงศรีประเมินว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยในปัจจุบันที่ยังค่อนข้างต่ำ โดยคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25%

ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในเดือนส.ค. แต่คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะไม่เร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงโตต่ำจากความอ่อนแอของภาคการผลิตและการส่งออกที่ต้องเผชิญกับสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น

ศูนย์วิจัยกรุงศรีประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น สิ้นปี 2567 จะไม่เกินกว่าระดับ 0.50% เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินพร้อมกับหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของพี่ใหญ่อย่าง จีน ยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาคการผลิตที่เปราะบาง รายงาน PMI ภาคการผลิตหดตัวติดต่อกัน เป็นเดือนที่ 4 สวนทางกลับภาคเอกชนหรือ Caixin ที่รายงาน PMI ภาคการผลิตพลิกกลับมาขยายตัวหลังลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนในเดือนก.ค.

ขณะเดียวกันทางการรายงาน PMI นอกภาคการผลิตขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 50.2 เป็น 50.3 ด้านสงครามการค้ายังขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุด แคนาดาประกาศขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มในอัตรา 100% มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.67 เหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 25% โดยจะมีผลบังคับใช้ 15 ต.ค.นี้

 อ่านข่าว:

70 ได้ลุ้น! กอช.เล็งชง ครม.ชุดใหม่ขยายอายุซื้อ "หวยเกษียณ"

เปิดจุดรับตัวอย่าง "ทุเรียน" หาการปนเปื้อน​ "แคดเมียม"

ธปท.-หน่วยงาน ยกร่างกฎหมายคืนเงินผู้ถูกหลอกโอนเงิน 100%


เปิด 4 แนวเส้นทางเลือก สร้างทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด

Tue, 3 Sep 2024 13:53:00

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (2 ก.ย.67) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด โดยมี นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. และนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลโครงการ

ได้แก่ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการดำเนินงาน แผนดำเนินงาน และแนวคิดการพัฒนาของโครงการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้สนใจ ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่ต้น และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการดำเนินงานศึกษาต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุด ต่อการดำเนินงานศึกษาความเหมาะสม

นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด

นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด

สืบเนื่องมาจากผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดตราด ครั้งที่ 2/2563 นั้น กระทรวงคมนาคม จึงได้มีข้อสั่งการ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประสานการดำเนินงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท ในการดำเนินการสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านการคมนาคมของชาวเกาะช้างและนักท่องเที่ยว

รวมทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามารักษาพยาบาลในตัวเมืองตราดและการส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมืองตราดได้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับ จ.ตราด เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย

กทพ.ร่วมกับ จ.ตราด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด

กทพ.ร่วมกับ จ.ตราด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด

ดังนั้น กทพ.จึงได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด, บริษัท เทสโก้ จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ในการเดินทางสู่เกาะช้างได้

รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปยังเกาะช้าง และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 24 เดือน ครอบคลุมการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม การสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียด 

กทพ.ร่วมกับ จ.ตราด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด

กทพ.ร่วมกับ จ.ตราด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ ในปี 2569 และ กทพ.จะดำเนินการในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการต่อไป โดยจะมีการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์โครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่ไปด้วย

จากการศึกษาทบทวนและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุดของโครงการที่มีความเหมาะสม และหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดแนวเส้นทางเลือก จึงสามารถกำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการ จำนวน 4 แนวเส้นทางเลือก ดังนี้

แนวเส้นทางเลือกที่ 1 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณ กม. 0+850 บ้านหนองปรือ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่านถนนอนุสรณ์สถาน และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพรและท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ และไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม. 8+550 บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง

แนวเส้นทางเลือกที่ 1

แนวเส้นทางเลือกที่ 1

สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านหนองปรือ จะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่ 1 มีระยะทางรวมประมาณ 9.82 กม.

แนวเส้นทางเลือกที่ 2 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางจะเป็นตำแหน่งเดียวกันกับแนวเส้นทางเลือกที่ 1 ซึ่งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณ กม.0+850 โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่านถนนอนุสรณ์สถาน และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพรและท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.6+750 บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง

แนวเส้นทางเลือกที่ 2

แนวเส้นทางเลือกที่ 2

สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านหนองปรือจะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณก่อนถึงชายฝั่งของเกาะช้างแนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100 ม.โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่ 2 มีระยะทางรวม ประมาณ 9.95 กม.

แนวเส้นทางเลือกที่ 3 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ กม.2+840 บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านธรรมชาติล่าง จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.5+300 บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง

แนวเส้นทางเลือกที่ 3

แนวเส้นทางเลือกที่ 3

สำหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณชายฝั่งของเกาะช้างแนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100-200 ม.โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่ 3 มีระยะทางรวม ประมาณ 5.90 กม.

แนวเส้นทางเลือกที่ 4 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ กม. 3+500 บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเรือเกาะช้างอ่าวธรรมชาติ จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.1+900 บ้านคลองสน ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง

4  แนวเส้นทาง

4 แนวเส้นทาง

สำหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณก่อนถึงชายฝั่งของเกาะช้าง แนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งมีความกว้างประมาณ 150-200 ม.โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่ 4 มีระยะทางรวม ประมาณ 5.59 กม.

ทั้งนี้ โครงการจะทำการศึกษาและเปรียบเทียบแนวเส้นทางเลือกแต่ละแนว โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุดของโครงการต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลข่าวสารของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ “www.kochangexpressway.com” ทางเฟซบุ๊ก “โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง” และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางไลน์ OA “kochangexpress" 

อ่านข่าว : เร่งค้นหา 6 ชีวิตลูกเรือประมงล่มทะเลเกาะช้าง  

ตร.เตรียมเรียก "ผู้จัด-ผู้แข่งขัน" ยิงปืนสอบปากคำ ปมแข่งยืงปืนในเขตอุทยานฯ "หมู่เกาะช้าง"  

อุทยานฯ ชี้ยกเลิก "วิ่งเทรลเกาะช้าง" เหตุผู้จัดไม่ขออนุญาตตามกฎหมาย 

 

 


70 ได้ลุ้น! กอช.เล็งชง ครม.ชุดใหม่ขยายอายุซื้อ "หวยเกษียณ"

Tue, 3 Sep 2024 13:13:00

วันนี้ (3 ก.ย.2567) โครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ หรือ "หวยเกษียณ" ซึ่งอยู่ระหว่างเดินสายรับฟังความเห็นประชาชน เพื่อยกร่างแก้ไขกฎหมาย กอช. รองรับการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น

ล่าสุด จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากแสดงความสนใจและสนับสนุนโครงการดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ ขยายอายุ ผู้มีสิทธิ์ซื้อหวยเกษียณ จากปัจจุบัน จำกัดสิทธิ์การซื้อเฉพาะ สมาชิก กอช. ที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปีเท่านั้น

กอช. จึงกำลังพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าว โดยอาจขยายสิทธิ์อายุผู้มีสิทธิ์ซื้อหวยเกษียณได้ถึงอายุ 70 ปี ภายใต้เงื่อนไข ถือบัญชีที่ซื้อหวยเกษียณต่อไปอีก 10 ปี จึงจะถอนเป็นเงินสดได้ ซึ่งจะนำเสนอต่อ บอร์ด กอช.และ ครม.ชุดใหม่ เพื่อพิจารณาต่อไป

เลขาธิการ กอช. กล่าวอีกว่า หากกระบวนยกร่างกฎหมาย ไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ ก็คาดว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2568 โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์และการออกรางวัล คาดว่าจะช่วยดึงแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก กอช. เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5,000,000 คน จากปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 2,600,000 คน

กอช.ยังร่วมลงนามความตกลงกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษา และแรงงานนอกระบบเข้าอบรมหลักสูตรบน SET e-Learning เรียนรู้การออมเงินและลงทุนอย่างถูกต้องตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อบริหารการเงิน ส่วนบุคคลรองรับวัยเกษียณได้

อ่านข่าวเพิ่ม :

ไฟเขียว "หวยเกษียณ" ใบละ 50 บาท ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน

"สลากเกษียณ" คืออะไร เงื่อนไข "ออม" ทำอย่างไร

"ฮวยหวย" กลยุทธ์ชวนคนไทยขุดเงินจากไหมาเล่นหวย


เปิดจุดรับตัวอย่าง "ทุเรียน" หาการปนเปื้อน​ "แคดเมียม"

Mon, 2 Sep 2024 18:55:00

วันนี้ (2 ก.ย.2567) เป็นวันแรก​ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน​ ต้องนำส่งตัวอย่างทุเรียนให้ห้องปฎิบัติการตรวจสอบเพื่อหาการปนเปื้อนของแคดเมียม​ หลังจีนตรวจพบทุเรียนไทยมีการปนเปื้อน

​ผู้สื่อข่ายรายงานบรรยากาศที่ตลาดมรกต ตลาดกลางผักและผลไม้ จ.ชุมพร​ มีผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ​ หรือ ล้ง​ นำตัวอย่างทุเรียนมาตรวจสอบหาการปนเปื้อนแคดเมียม​ในเนื้อทุเรียน โดยมีห้องปฎิบัติการ​จากกรุงเทพฯ​ ปทุมธานี ​สุราษฎร์ธานี​และสงขลา​ มาตั้งจุดรับ​ตัวอย่าง ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ​เอง​ อัตราค่าบริการอยู่ที่​ 1200 บาทต่อ​ 1 ตัวอย่าง หรือ​ 1 ตู้​คอนเทนเนอร์/ชิปเมนต์ มีผู้ประกอบการกว่า​ 30 ราย​นำตัวอย่างมาให้ตรวจสอบกว่า​ 60 ตัวอย่าง

ขั้นตอน​การตรวจสอบทุเรียน เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะสุ่มตัวอย่างทุเรียน​ 5 ลูก ​จากนั้นนำตัวอย่างมาบรรจุลงกล่อง​ ปิดเทปกาวและเซ็นชื่อ ผู้ประกอบการต้องนำตัวอย่างไปจุดตรวจเองและชำระค่าบริการ ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ใช้เวลา​ภายใน 72 ชั่วโมง โดยจะมีการรายงานผลไปยังผู้ประกอบการและกรมวิชาการเกษตร

อ่านข่าว : จีนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสาเหตุ

น.ส.อรุณรัตน์​ ยังสุข​ เจ้าของ​ล้งสุริยา​ 388 จ.ชุมพร​ ระบุว่า​ ขณะนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการตรวจพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบสาเหตุ​ เพราะเริ่มส่งกระทบต่อการส่งออก​ที่ปลายทางมีการตรวจเข้มงวดและใช้เวลาตรวจนานขึ้น​ ทำให้ผลผลิต​เสียหาย​

ขณะที่ น.ส.ฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 (สวพ.7)​ กรมวิชาการเกษตร​ ​ระบุว่า​ การขอความร่วมมือผู้ส่งออกนำส่งตัวอย่างทุเรียนมาตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ส่งออก​และตลาดส่งออกหลัก​ หลังจากจีนมีการแจ้งเตือนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียมในเนื้อทุเรียน​เกินค่ามาตรฐาน​ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร​ได้สั่งปิดล้งที่พบการปนเปื้อนไปแล้ว​ โดยพบล้งส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ชุมพร​

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร​ได้เก็บตัวอย่างตรวจสอบจากผลผลิตทุเรียน​ ใบ​ น้ำ​ ดิน​ ปัจจัยการผลิต​ มาตรวจสอบ ส่วนใหญ่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่​ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม​ แต่ก็มีบางล้ง​ที่ตรวจพบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน​ ซึ่งพบจากการใช้สารชุบขมิ้นป้ายขั้ว​ ซึ่งได้ระงับการส่งออกแล้ว​

สำหรับตัวอย่างทุเรียนที่ผู้ส่งออกนำมาตรวจสอบ​ หากตรวจพบ​แคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน​ ล้งจะต้องพิจารณาว่าจะระงับการส่งออกเองหรือไม่​ หากตัดสินใจส่งออกแล้วจีนตรวจพบภายหลัง​ กรมวิชาการเกษตรจะระงับการส่งออกและไม่สามารถกลับมาส่งอีกได้อีก​ ทั้งนี้ได้กำหนดให้ผู้ส่งออกส่งตัวอย่างทุเรียนได้ตั้งแต่วันที่​ 2-16 ก.ย.นี้​ โดยจะนำผลตรวจสอบไปยืนยันกับจีน

ด้านนาย​ธเนศ สร้างถาวร ผู้จัดการทั่วไป ตลาดมรกต ตลาดกลางผักและผลไม้ จ.ชุมพร เสนอให้รัฐตั้งห้องปฎิบัติการตรวจสอบหาสารตกค้างในพื้นที่แหล่งผลิตและแหล่งส่งออกหลัก ​เช่น​ ชุมพร​ จันทบุรี​ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และเห็นว่าควรมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง​เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภค​ ผู้ค้า​และตลาดปลายทาง

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาทุเรียนที่ส่งออกจาก จ.ชุมพร​ ไม่พบปัญหาทุเรียนปนเปื้อนแคดเมียมมาก่อน​ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาคำตอบว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากสาเหตุใด​ เพราะหลายฝ่ายเริ่มกังวล​

สำหรับราคารับซื้อทุเรียนเกรด​ AB ที่ จ.ชุมพร​ รับซื้อที่กิโลกรัม​ละ​ 120-125 บาท​, เกรด C 85 บาท​และเกรด​ D 75 บาท

อ่านข่าว

ศาลสั่ง "วิน โพรเสส" ชดใช้ 1.7 พันล้านฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ธปท.-หน่วยงาน ยกร่างกฎหมายคืนเงินผู้ถูกหลอกโอนเงิน 100%

ไขปม "หมาดุ-ก้าวร้าว" แนะวิธีเอาตัวรอดเมื่อถูกกัด


ธปท.-หน่วยงาน ยกร่างกฎหมายคืนเงินผู้ถูกหลอกโอนเงิน 100%

Mon, 2 Sep 2024 11:57:00

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบชำระเงิน และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายกำหนดสถาบันการเงิน พัฒนาและออกแบบระบบ ที่สามารถปิดช่องโหว่ ป้องกันแอปพลิเคชันแปลกปลอมบนโมบายแบงก์กิ้ง รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติของสถาบันการเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หากเกิดความเสียหายจากกรณีแอปฯ ดูดเงิน

หากแบงก์ไม่สามารถทำได้หรือมีช่องโหว่ในระบบแล้วเกิดความเสียหาย แบงก์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย คืนเงินแก่เจ้าของบัญชี 100% จากปัจจุบัน เป็นการเฉลี่ยเงินคืน ตามสัดส่วน จากเงินกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย ที่ยึดคืนจากผู้กระทำความผิด

พร้อมยกกรณีศึกษา ของสิงคโปร์ หากมีเงินโอนออกจากบัญชี โดยไม่มีข้อความ SMS แจ้งเตือนไปยังมือถือเจ้าของบัญชี ธนาคาร ต้องรับผิดชอบ ใช้เงินคืนตามจำนวน หากแต่แจ้งเตือนไปแล้ว แบงก์ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

ผู้บริหารแบงก์ชาติกล่าวอีกว่า มิจฉาชีพ ปรับตัวหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น การป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพ ส่งข้อความ SMS ถึงประชาชนได้เหมือนทุกวันนี้

อ่านข่าว : พบวัยเก๋า 80% ตกเป็นผู้เสียหาย ถูกหลอกโอนเงิน-ข้อมูลส่วนตัว

สองพี่น้องถูกคอลเซนเตอร์หลอกโอนเงิน สูญ 7.8 ล้านบาท  

เตือนภัยมิจฉาชีพ หลอกโอนเงินแบบตั้งเวลาล่วงหน้า  

 


เสียงสะท้อนเปลี่ยนท่าเรือคลองเตย สู่สถานบันเทิงครบวงจร

Fri, 30 Aug 2024 18:59:00

แม้ยังไม่ปักหมุดแน่ชัดว่า สถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่รัฐบาลจะผลักดันจะตั้งอยู่ที่ใด แต่วันนี้ดูเหมือนแสงไฟจะส่องชัดไปยังท่าเรือคลองเตย ที่กำลังมีแผนจะพัฒนา และย้ายท่าเรือบางส่วนออกไป แต่เสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ หรือผู้เกี่ยวข้องก็ยังคงแสดงความเป็นห่วงทั้งมิติความคุ้มค่า รวมไปถึงปัญหาสังคมที่อาจตามมาจะได้คุ้มเสียหรือไม่

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพว่า แผนดังกล่าวสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษ และ มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมทำให้มีประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า

ที่ผ่านมา ท่าเรือกรุงเทพมีท่าเรือท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เช่น เรือครุยส์ขนาดใหญ่ที่ปกติเข้าจอดที่ท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากใช้ความลึกร่องน้ำ แต่ยังมีเรือท่องเที่ยวอีกกลุ่มซึ่งบรรทุกนักท่องเที่ยวได้กว่า 1,000 คนมาเที่ยวใน กทม.โดยใช้เรือท่องเที่ยวมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือกรุงเทพ

นอกจากนี้ตามแผนพัฒนาท่าเรือ ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเทียบเรือ บริเวณกองท่าบริการสินค้า หรือ เทอร์มินอล 1 และเทอร์มินอล 2 และเตรียมก่อสร้างเทอร์มินอล 3 เพื่อพัฒนาให้เป็น Smart Port โดยจะเป็นการสร้างออกแบบใหม่ ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า รองรับการพักสินค้า

ส่วนกรณีที่นักลงทุนสนใจพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ให้เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นั้น นายเกรียงไกร ยอมรับว่า เอกชนให้ความสนใจ แต่ท่าเรือ มี พ.ร.บ.ท่าเรือ พ.ศ.2494 ระบุว่า เพื่อดำเนินการและสร้างความเจริญในกิจการท่าเรือและเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ซึ่งต้องใช้ประโยชน์เพื่อการดำเนินกิจการท่าเรือและโลจิสติกส์​เท่านั้น

แต่ท่าเรือก็มีแผนในการพัฒนาท่าเรือ โดยมีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาให้ดูความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์​

และหากในอนาคตจะมีการแก้ พ.ร.บ.ท่าเรือ หรือไม่ นายเกรียงไกร ระบุว่า สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล

นายพรชัย ศรีธาลธร ประธานสหภาพ​แรงงาน​รัฐ​วิสาหกิจ​ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ท่าเรือมีเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริมน้ำแทบทั้งหมด การเข้ามาของกลุ่มทุนหลายกลุ่มที่สนใจในพื้นที่นี้และต้องการเข้ามาลงทุน ไม่ใช่พัฒนาพื้นที่ของประเทศ ซึ่ง พ.ร.บ.ท่าเรือ ทำเพื่อการดำเนินกิจการท่าเรือโลจิสติกส์​ และต้องการให้คงท่าเรือกรุงเทพอยู่ และควรนำแผนพัฒนาท่าเรือเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การพัฒนาเป็น Smart Port การจัดทำเป็นท่าเรืออัตโนมัติ​ จุดพักสินค้า และการพัฒนาทางด่วน ที่ควรนำมาพัฒนาต่อไม่ใช่เอาไปทำอย่างอื่น

พร้อมยืนยันว่า สหภาพฯ ไม่ได้คัดค้าน เห็นด้วยการพัฒนาแต่อยากให้มีการพัฒนาร่วมกัน โพลต่างๆ ที่ออกมาเอื้อให้เข้าใจว่า การมีท่าเรือกรุงเทพก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดและมลพิษ

สมพิศ ผอบเพชร ประธานชุมชน ฟ.19-22 คลองเตย กล่าวว่า อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด จนถึงตอนนี้ 70 ปีแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาล การท่าเรือฯ ไม่เคยให้ความชัดเจน ยอมรับว่าเรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับคนในชุมชนที่มีมากกว่า 1,100 หลังคาเรือน โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ จึงอยากหารือกับรัฐบาลว่า คนในชุมชนนี้ไม่ได้ต้องการย้ายไปที่อื่น เพราะไปไหนไม่ได้ แต่ถ้าหากจะสร้างจริงก็ควรมีพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย​ให้คนในชุมชนด้วย

ยืนยันว่าไม่เคยขัดขวางการพัฒนา เพราะผ่านมาหลายรัฐบาล ทุกรัฐบาลต้องการเข้ามาใช้ประโยชน์​จากพื้นที่นี้ แต่ไม่เคยถามความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งเอนเตอร์เทน​เมนต์​คอมเพล็กซ์​ กังวลว่า อาจจะส่งผลต่อคนในพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องอบายมุข

สอดคล้องกับ ข้อมูล ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ให้ข้อมูลต่อ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ที่เห็นว่า การเปิดสถานบันเทิงครบวงจรในเมืองหลัก มีผลด้านลบทั้งในแง่การต่อต้านจากคนในพื้นที่ เนื่องจากเกิดความกังวลปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ หากรัฐไม่สามารถคัดกรองผู้เข้าเล่นกาสิโนอย่างเข้มงวด อาจทำให้คนในพื้นที่เข้าไปเล่นการพนัน จนนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน ซึ่งอาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในท้องที่ของตน

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้แบงก์ชาติ ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการลงทุนโครงการ สถานบันเทิงครบวงจร โดยละเอียด แต่โดยหลักการ ธุรกิจกาสิโน ไม่ได้เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก คล้ายกับธุรกิจการเงิน ที่แม้มีกระแสเงินหมุนเวียนภายในสูง แต่ผลต่อเศรษฐกิจ อาจมีเพียงการจ้างงานพนักงาน อาหาร และบริการภายในกาสิโน หรือ ภายในโครงการ

ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับ แถลงการณ์ 99 นักวิชาการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่แสดงความห่วงใยต่อการผลักดันกาสิโนถูกกฎหมาย เพราะไม่มีผลดีในเชิงเศรษฐศาสตร์มากนัก แต่จะสร้างผลกระทบทางสังคมตามมา

อ่านข่าว :

จีนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสาเหตุ

"พาณิชย์" ลุยสอบเชิงลึก 165 ราย เข้าข่าย "นอมินี"

ทีทีบี ชี้ขาลง “สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย” แนะเร่งปรับตัวหนีคู่แข่ง


จีนพบทุเรียนไทยปนเปื้อนแคดเมียม กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสาเหตุ

Thu, 29 Aug 2024 20:56:11

วันนี้ (29 ส.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าของล้งทุเรียนใน จ.ชุมพร ยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อส่งออก แม้ขณะนี้จีนจะมีการแจ้งเตือนพบทุเรียนไทยบางชิปเมนต์ที่ส่งออกไปจีนปนเปื้อนแคดเมียม

เจ้าของล้งแห่งหนึ่งเชื่อว่า ทุเรียนที่พบการปนเปื้อนไม่น่าจะเป็นทุเรียนที่ปลูกในไทย เพราะเกษตรกร-ล้งส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการทำทุเรียนคุณภาพ เพราะหากตรวจพบสารตกค้างจะกระทบการส่งออก ราคาที่เกษตรกรขายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ขณะที่กรมวิชาการเกษตร ประชุมร่วมกับผู้ส่งออกเพื่อหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหา โดยนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.ถึงปัจจุบัน จีนมีการแจ้งเตือนพบทุเรียนที่ส่งออกจากไทยปนเปื้อนแคดเมียมมา 6 ครั้ง จำนวน 16 ชิปเมนต์ จากโรงคัดบรรจุ 12 ราย แหล่งผลิตจำนวน 15 สวน

กรมวิชาการเกษตรสั่งระงับการส่งออกทันที ทั้งในส่วนของโรงคัดบรรจุและสวน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างทุเรียน ดิน น้ำ ปัจจัยการผลิต เพื่อหาการปนเปื้อน จากผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีตัวอย่างปนเปื้อน แต่ไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนด

อย่างไรก็ตามเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ส่งออกทุเรียนระหว่างวันที่ 2-16 ก.ย. นำตัวอย่างทุเรียน 5 ลูกต่อชิปเมนต์ มาตรวจการปนเปื้อนแคดเมียม ซึ่งจีนกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในอัตรา 800-1,200 บาท รวมค่าขนส่ง สำหรับ จ.ชุมพร ได้ประสานตลาดมรกต ซึ่งเป็นตลาดกลางผลไม้ เป็นจุดรับตัวอย่าง ส่วนจังหวัดอื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สามารถนำตัวอย่างไปตรวจสอบได้ตามห้องปฎิบัติการ 6 แห่งที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO พร้อมยืนยันว่าแม้จีนจะแจ้งเตือนพบแคดเมียม แต่ยังไม่ได้ระงับการนำเข้าทุเรียนจากไทย

ด้านนายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุดแห่งประเทศไทย ระบุว่า กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างรวดเร็ว เพราะเริ่มตรวจพบบ่อยครั้งขึ้น โดยต้องตรวจสอบตั้งแต่การขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก การขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุ และสวนที่ได้ GAP เพื่อหาที่มาของสาเหตุ

สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 27 ส.ค.2567 ส่งออกไปแล้ว 714,334 ตัน มูลค่า 94,870 ล้านบาท ส่วนทุเรียนผลสดนำเข้าจากกัมพูชา จำนวน 2 ชิปเมนต์ ปริมาณ 40,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท

อ่านข่าว

เจ้าของเครื่องบินตั้งคำถามมาตรฐาน “ทีมช่าง” บางกลุ่ม

กพท.แจงออก “ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ” เตรียมสอบข้อเท็จจริง

ทีทีบี ชี้ขาลง “สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย” แนะเร่งปรับตัวหนีคู่แข่ง


“พาณิชย์” ลุยสอบเชิงลึก 165 ราย เข้าข่าย "นอมินี"

Thu, 29 Aug 2024 17:12:00

วันนี้ (29 ส.ค.2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ว่า ปี 2567 กรมมีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคลจำนวน 20,019 ราย ใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร นำเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าที่ดิน ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

โดยดำเนินธุรกิจอยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ ทั้งนี้หลังจากตรวจสอบคัดกรองพบว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นนอมินี 498 ราย และได้ตรวจเชิงลึก ลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่ตั้ง งบการเงิน ไม่พบผิดปกติ 333 ราย และพบมีความเสี่ยง 165 ราย

165 ราย กรมฯกำลังตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ตรวจสอบเชิงลึกมากขึ้น และให้บริษัททำหนังสือชี้แจง รวมทั้งได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อตรวจสอบด้วย

อธิบดีกรมพัฒน์ฯ กล่าวอีกว่า กรมได้เพิ่มจำนวนธุรกิจที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินีอีกหลายธุรกิจ ที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ หลังจากได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นฝ่ายเลขานุการของศูนย์เฉพาะกิจปราบปรามสินค้าไร้คุณภาพไร้มาตรฐาน ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ที่ เพื่อดูแลผู้บริโภคและผู้ประกอบการ SME ของไทย ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจก่อสร้างและวิศวกรรม

ขณะเดียวกัน จะตรวจสอบธุรกิจที่ภาคเอกชนหรือสมาคมการค้า เห็นว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นนอมินี อาทิ การขนส่ง โลจิสติกส์ และค้าเหล็ก เป็นต้นโดยได้รับข้อมูลว่าธุรกิจเหล่านี้ ปัจจุบันมีคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการตรวจสอบ และหลายกรณีได้ส่งต่อให้ดีเอสไอ เพื่อตรวจสอบเชิงลึกต่อ

อ่านข่าว:

กรมพัฒน์ฯ ชวน เกษตรกร ใช้ ต้นไม้ขอสินเชื่อ ต่อยอดธุรกิจ

สภาพัฒน์ฯชี้ "สังคมศาสตร์" เสี่ยงตกงานสูง แนะเพิ่มทักษะ AI

“ภูมิธรรม” เร่ง “ขันน็อต” เคาะ 5 มาตรการ สกัดสินค้ามาตรฐานต่ำ


หอการค้าฯ ชี้ “น้ำท่วมเหนือ” เศรษฐกิจเสียหาย 6 พันล้านบาท

Thu, 29 Aug 2024 16:23:00

วันนี้ (29 ส.ค.2567) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา สุโขทัย ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน พิษณุโลก และนครสวรรค์ ยังมีแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มอีกระลอก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เบื้องต้นประเมินความเสียหายประมาณ 4,000 – 6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.02 – 0.03% ของ GDP ซึ่งยังคงต้องติดตามและประเมินผลกระทบอีกครั้ง เนื่องจากหลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติม

ทั้งนี้จากการประเมินพบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม โดยในระยะสั้นหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การสั่งการและมอบหมายนโยบายข้ามกระทรวงเกิดการบูรณาการการทำงานอย่างคล่องตัว และจะต้องเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝน

คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนก.ย.และต.ต. ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ หากรัฐบาลมีแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจนก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก

ในส่วนของภาคเอกชนหอการค้าไทยโดยมูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์ได้เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งส่งมอบเงินผ่านหอการค้าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเพื่อจัดหาสิ่งของที่จำเป็นและระดมอาสาสมัครภาคเอกชนลงพื้นที่แจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเครือข่ายเอกชนต่าง ๆ ที่ได้จัดคาราวานลงพื้นที่แจกถุงยังชีพ ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือสถานการณ์

นายสนั่นกล่าวอักว่า หลังระดับน้ำลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีแนวทางการช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะความเสียหายของสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาปรับปรุงและซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

นอกจากนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้กำลังความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่ง (Modern Retail & Wholesale) ชั้นนำของประเทศ ระดมแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการจัดแคมเปญลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ลดราคาสินค้าค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน กว่า 7,000 รายการ เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ กระดาษทิชชู่ ยาสระผม แปรงสีฟัน ผ้าอนามัย สินค้า Own Brand และยังล็อคราคาสินค้าอีกกว่า 400 รายการ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ยาวนานขึ้น

รวมถึงร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดสินค้าลดราคา ออกหน่วยธงฟ้าบริการประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับเครือข่ายบริษัทชั้นนำเพื่อช่วยสนับสนุนส่วนลดพิเศษเพิ่มเติม เช่น TOYOTA สำหรับซ่อมแซมยานพาหนะ, SCG สำหรับการซ่อมแซมและวัสดุก่อสร้าง, Siam Kubota มอบส่วนลดค่าแรง น้ำมันเครื่อง และอะไหล่ให้กับรถที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติโดยตรง 

สำหรับการช่วยเหลือด้านการเงิน ได้มีการหารือกับ SME D Bank และ EXIM Bank ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ นอกจากนี้หอการค้าฯ จะใช้ศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรฯ เป็นกลไกในการช่วยกระจายและระบายสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ โดยหลังจากนี้น่าจะมีความช่วยเหลือจากเครือข่ายของหอการค้าฯ เข้ามาเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก

หอการค้าฯ หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือนร้อน และเป็นการส่งมอบกำลังใจจากความร่วมมือของเอกชนในส่วนต่าง ๆ ไปยังประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ให้สามารถกลับมาเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วต่อไป

 

อ่านข่าว:

 น้ำท่วมกระทบ "ผักสด" ตลาดภาคกลางยอดซื้อเพิ่ม-ราคาขยับ

“ภูมิธรรม” เร่ง “ขันน็อต” เคาะ 5 มาตรการ สกัดสินค้ามาตรฐานต่ำ

กรมพัฒน์ฯ ชวน เกษตรกร ใช้ ต้นไม้ขอสินเชื่อ ต่อยอดธุรกิจ


ทีทีบี ชี้ขาลง “สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย” แนะเร่งปรับตัวหนีคู่แข่ง

Thu, 29 Aug 2024 15:45:12

วันนี้ (29 ส.ค.2567) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่กำลังถูกท้าทายด้วยต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองตลาดในปัจจุบันได้เร็วกว่าและมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำกว่า ซึ่งหากไทยไม่เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตจากแบบดั้งเดิม (Traditional) ที่เป็นอยู่ โดยเพฉพาะเรื่องราคาจากผู้ประกอบการต่างชาติ รวมถึงยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ อาจส่งผให้อุตสาหกรรมสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีต่อเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปี2565 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย สร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจสูงถึง 4.17 แสนล้านบาทและเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) มีการจ้างงานที่สูงถึง 4 แสนตำแหน่ง หรือ 10% ของแรงงานในภาคการผลิต

แต่ปัจจุบันสัญญาณการถูกลดบทบาทจากการที่ไทยเป็นเพียงฐานะการรับจ้างผลิตสะท้อนผ่านมูลค่าของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปี 2566 ปรับตัวลง 5.9% เหลือเพียง 3.92 แสนล้านบาท และในปี 2567 แม้การหดตัวจะลดลงอยู่ที่ 1.42% ที่มูลค่า 3.86 แสนล้านบาท แต่ก็เป็นผลจากภาคส่งออกในรูปแบบค่าเงินบาทที่ช่วยพยุงในช่วงครึ่งปีแรก

จากข้อจำกัดของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ยังรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer : OEM) แบรนด์แฟชั่น Hi-Street รวมถึงผู้ผลิตที่ยังไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added) ผ่านแบรนด์สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงที่ปกป้องอุตสาหกรรมจากการเน้นเรื่องคุณภาพการผลิต มากกว่าการมุ่งเน้นในเรื่องของต้นทุน

ttb analytics วิเคราะห์ว่า สัญญาณเตือนที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเริ่มมีบทบาทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มรับจ้างการผลิตในตลาดกลุ่ม Hi-Street Fashion ที่ไปยังแหล่งต้นทุนต่ำ ซึ่งการการย้ายฐานการผลิตทำให้ได้เปรียบจากต้นทุนที่ถูกลง โดยเฉพาะต้นทุนแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยอยู่ที่ 255 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น บังกลาเทศ และเวียดนาม เริ่มต้นที่ 114 และ 195 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่งผลให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกของไทยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 65-70% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดหดตัวกว่า 13.1%

ในขณะที่ภาคการส่งออกของกลุ่มประเทศที่ถูกยกระดับการเป็นฐานการผลิตใหม่ในรูปแบบการผลิตแบบดั้งเดิมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เช่น บังกลาเทศและเวียดนามกลับมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 20.2% และ 45.3% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา

ttb analytics มองว่า กระแส Fast Fashion ที่มาแรงในขณะนี้ส่งผลกระทบตลาด Mass Marketingที่กดดันให้การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยต้องตอบสนองพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเปลี่ยนโฉมการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นรูปแบบการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้น (Capital Intensive) จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์

โดยโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสามารถมีกำลังการผลิตต่อ 1 โรงงานได้มากกว่า 100,000 ตัวต่อวัน สามารถตอบสนองความต้องการระยะสั้น ๆ ที่เข้ามาทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง

ดังนั้น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย ที่ส่วนใหญ่ยังจัดอยู่ในกลุ่มรับจ้างผลิตสินค้าในระดับแค่ Hi-Street Fashion รวมถึงในกลุ่มผู้ผลิตที่ยังไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์ผ่านตราสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นกำแพงที่ทำให้เกิดผลกระทบจากการแข่งขันด้านต้นทุนและป้องกันการลอกเลียนแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยยังเผชิญกับแรงกดดันอันลดทอนศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก

ฐานการผลิตที่ตอบสนองสินค้าคนรุ่นใหม่มักกระจุกตัวในจีน ที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมสูงและข้อได้เปรียบที่จีนเป็นเจ้าของ Platform การค้าออนไลน์ที่คาดการณ์เทรนด์การสั่งซื้อ และพฤติกรรมของผู้ซื้อได้อย่างแม่นยำจึงเป็นแรงกดดันกับอุตสาหกรรมไทย

อย่างไรก็ตาม ttb analytics มองว่า ทางรอดสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย คือ ผู้ประกอบการต้องกำหนดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนที่เหมาะกับสินค้าผ่านเอกลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ดีไซน์ รูปแบบ เพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงคุณภาพสินค้าได้ และขยายธุรกิจได้ในเวลาเดียวกันผ่านกลยุทธ์ทางราคา

การเน้นคุณภาพให้สูงจะเป็นกำแพงป้องกันการตีตลาดจากฝั่งผู้ประกอบการต่างชาติที่เน้นเรื่องต้นทุนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังมีพื้นที่ขายตลาดกลุ่ม Mass ที่แข่งขันในเรื่องต้นทุนมากกว่าเน้นเรื่องคุณภาพ

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทย ควรพยายามพัฒนาบทบาททางเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตและจะทำให้ลดช่องว่างความเสียเปรียบด้านต้นทุนให้แคบลงที่สุด เนื่องจากหากต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่าระดับหนึ่ง เช่น ต่ำกว่า 50% นโยบายภาษีของภาครัฐอาจไม่ส่งผลเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ เนื่องจากต้องยกระดับถึงการเก็บภาษีกว่า 100% จึงจะช่วยลดแต้มต่อจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในจำนวนนั้น ๆ ได้

ดังนั้น ผู้ประกอบในประเทศควรเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้มีกรอบที่แคบลงเพียงพอที่ภาครัฐจะสามารถใช้นโยบายภาษี เพื่อลดความเสียเปรียบนั้นได้อย่างสมเหตุสมผล

อ่านข่าว:

“ภูมิธรรม” เร่ง “ขันน็อต” เคาะ 5 มาตรการ สกัดสินค้ามาตรฐานต่ำ

 สภาพัฒน์ฯชี้ "สังคมศาสตร์" เสี่ยงตกงานสูง แนะเพิ่มทักษะ AI

ส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน


“ภูมิธรรม” เร่ง “ขันน็อต” เคาะ 5 มาตรการ สกัดสินค้ามาตรฐานต่ำ

Wed, 28 Aug 2024 18:15:00

วันนี้ (28 ส.ค.2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัญหาสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำทั้งแบบออนไลน์ลำธุรกิจในไทยของทุนต่างชาติ และขายในราคาถูกสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยและผู้บริโภคที่ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์

โดยได้มีการประชุมร่วมกับ 28 หน่วยงาน เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำ โดยได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ผ่านการดำเนินการใน 5 มาตรการหลัก แยกเป็นมาตรการเร่งรัดและมาตรการยั่งยืนรวม 63 มาตรการ

สำหรับรายละเอียด 5 มาตรการ ได้แก่ ให้หน่วยงานบังคับใช้ระเบียบ กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร ทั้งในส่วนของการสำแดงพิกัดสินค้า การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม การตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบของ Cyber Team ตรวจสอบสินค้ามาตรฐานจำหน่ายออนไลน์ในส่วนการประกอบธุรกิจ มีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี

โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยต้องส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงิน พร้อมกับการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด

การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย

นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุดไปด้วยอีกทางหนึ่ง

ส่วนมาตรการภาษี โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร

ในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศเตรียมการจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และมาตรการช่วยเหลือ SME ไทย มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้า และการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายการส่งออกผ่าน 9 แพลตฟอร์ม E-Commerce พันธมิตรในประเทศเป้าหมาย

นายภูมิธรรมกล่าวว่า มาตรการสุดท้าย คือ การต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางตลาด E-Commerce ให้เป็นอีกช่องทางในการผลักดันสินค้าไทยผ่าน E-Commerce ไปตลาดต่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค

ให้ทุกหน่วยงานเพิ่มความเข้มข้น และตรวจสอบใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ ทั้งการจดทะเบียนการค้า ใบอนุญาต คุณภาพสินค้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานของ อย. สมอ. การชำระอากรขาเข้าผู้ประกอบการต่างชาติ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ให้กรมศุลกากรเปิดตู้สินค้าถี่ขึ้น นัดประชุมร่วมกันทุก 2 สัปดาห์ และให้ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

รมว.พาณิชย์กล่าวว่า หากกฎหมายมีอยู่ ไม่เพียงพอ หรือไม่ทันสมัย ก็ให้พิจารณาปรับปรุง หรือปรับระเบียบใหม่อย่างเหมาะสม แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาการค้าที่เป็นสากล เช่น การเพิ่มสินค้าควบคุมตามมาตรฐานของ อย. และ มอก. การปรับปรุงระเบียบฟรีโซน การออกแนวปฏิบัติให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศต้องเข้ามาจดทะเบียนในไทย หรือการดูแนวทางจากต่างประเทศ เช่น ห้ามสินค้าเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์' รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกรมศุลกากรจริงจังในการตรวจเข้มสินค้าที่เข้ามาอย่างจริงจัง และใช้ทั้งกฎหมาย กฎระเบียนที่ไทยมีอย่างเข้มงวด โดยสินค้าที่น่าจะเป็นห่วง คือ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสัตว์ เครื่องประดับราคาถูก สินค้าในอุตสาหกรรมเบา ของใช้ในบ้าน เป็นต้นซึ่งมีราคาถูก ดังนั้นหนาวยงานรัฐต้องเข้มงวดมากขึ้น

อ่านข่าว:

เฟดเปิดทางลดดอกเบี้ย กรุงศรี ชี้เงินบาทซื้อขาย 33.75-34.30

ส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน

สภาพัฒน์ฯเผย คนไทยว่างงาน-หนี้เกินตัว ใช้โซเชียลกู้ยืมนอกระบบ


ธ.ก.ส. เพิ่มวงเงินสินเชื่อ ให้ อสม.- อสส. กู้สูงสุด 5 หมื่นบาท/ราย

Wed, 28 Aug 2024 18:12:00

วันนี้ (28 ส.ค.2567) นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ต่อยอด โครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี เพื่อสมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน : อสม. และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร : อสส. ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลสุขภาพและช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชน และห่างไกลชนบทมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ลดปัญหาการพึ่งพาหนี้นอกระบบ

โดยขยายวงเงินกู้ให้กับลูกค้า อสม.และ อสส. ที่มีการกู้เงินตามโครงการไปแล้ว และมีการผ่อนชำระเงินตรงตามเวลาทุกงวดติดต่อครบ 4 เดือน และมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนหรือลงทุนประกอบอาชีพ ด้วยการขยายวงเงินจากเดิมกู้ได้ไม่เกิน 20,000 บาท เป็นไม่เกิน 50,000 บาท

และขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปจากเดิมไม่เกิน 48 งวด เป็นไม่เกิน 125 งวด พร้อมกำหนดจำนวนผ่อนชำระคืนต้นและดอกเบี้ย เป็นรายเดือนละ 600 บาท โดย ธ.ก.ส. ได้เตรียมวงเงิน เพื่อสนับสนุนโครงการนี้ จำนวน 20,000 ล้านบาท

สำหรับเงื่อนไขผู้กู้ต้องเป็นสมาชิก อสม. และ อสส. ที่เคยกู้ผ่านโครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี และต้องถือบัตร Smart card ของ ธ.ก.ส. อายุไม่เกิน 75 ปี มีสมาชิก อสม. และ อสส. เป็นผู้ค้ำประกัน 2 คน (ต้องเป็นคนค้ำประกันรายเดิมจำนวน 1 คน) ซึ่งสมาชิกที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. จนถึง 31 มี.ค. 2569

อ่านข่าว:

สภาพัฒน์ฯชี้ "สังคมศาสตร์" เสี่ยงตกงานสูง แนะเพิ่มทักษะ AI

สภาพัฒน์ฯเผย คนไทยว่างงาน-หนี้เกินตัว ใช้โซเชียลกู้ยืมนอกระบบ

เฟดเปิดทางลดดอกเบี้ย กรุงศรี ชี้เงินบาทซื้อขาย 33.75-34.30


สภาพัฒน์ฯชี้ "สังคมศาสตร์" เสี่ยงตกงานสูง แนะเพิ่มทักษะ AI

Wed, 28 Aug 2024 16:27:00

วันนี้ ( 28 ส.ค2567) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า การว่างงานในตลาดแรงไทยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นครั้งรกหลังจากการฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 430,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 1.07% เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน

สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 2 ผู้ที่มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5% ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวที่1.5% แต่สาขาการขนส่งและเก็บสินค้าปรับตัวดีขึ้น 9% ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารยังคงขยายตัวได้ดีที่ 4.9%

โดยมีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย ส่วนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.8 และ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ลดลงร้อยละ 19.8 และ 8.7 ตามลำดับ อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 1.07 หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน

ทั้งนี้สภาพัฒน์ ระบุว่า ผู้ที่ว่างงานส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา สูงสุดถึง 158,700 คน จากจำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เฉลี่ยระหว่างปี 2560-2566 หรือประมาณ 302,360 คน ซึ่งแบ่งเป็น คนที่เคยทำงานมาก่อนแล้วว่างงาน พบว่าไตรมาส 2/67 มีผู้ว่างงาน 37,400 คน ลดลงถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไม่เคยทำงานมาก่อน พบว่า มีการว่างงานถึง 129,300 คน

โดยพบว่า 63% จบ ด้านสังคมศาสตร์ และถ้ารวมกับสาขาธุรกิจ และกฎหมาย จะมีผู้ว่างงานถึง 66,600 คน ขณะที่สาขาการศึกษา มีผู้ว่างงาน 24,700 คน สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ผลิต และก่อสร้าง ว่างงาน 18,300 คน สาขาวิทยาศาสตร์ ว่างงาน 17,400 คน ที่มีอัตราการว่างงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง

ดังนั้นการปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดย WEF ระบุว่า ภายในปี 2027 งานในภาคธุรกิจกว่า  42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟต์ประเทศไทยร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI   แต่ 90% เลือกจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยแต่มีทักษะด้านการใช้AI

ทักษะที่สำคัญในอนาคต คือ การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และมีความรู้เทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญมากในตลาดแรงงาน

 อ่านข่าว:

ส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน

สภาพัฒน์ฯเผย คนไทยว่างงาน-หนี้เกินตัว ใช้โซเชียลกู้ยืมนอกระบบ

เฟดเปิดทางลดดอกเบี้ย กรุงศรี ชี้เงินบาทซื้อขาย 33.75-34.30

 


น้ำท่วมกระทบ "ผักสด" ตลาดภาคกลางยอดซื้อเพิ่ม-ราคาขยับ

Wed, 28 Aug 2024 12:21:44

วันนี้ (28 ส.ค.2567) ภัยพิบัติมักจะมาพร้อมกับความเสียหาย โดยเฉพาะขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ซึ่งตลาดกลางค้าส่งผักสด ใน จ.ราชบุรี ราคาผักบางชนิดเริ่มขยับขึ้น ตามปริมาณผักในประเทศที่เสียหาย ขณะที่แม่ค้าต้องปรับตัว นำเข้าผักจากจีนเพื่อมาทดแทน ปริมาณผักในประเทศ

ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่สำรวจราคาผักสด ณ ตลาดกลางค้าผักขนาดใหญ่ จ.ราชบุรี พบว่า ผักบางชนิดมีการปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะ "ต้นหอม" จากเดิมราคาขายส่ง 60 บาท ปัจจุบันขายอยู่ที่ 100-130 บาท ขึ้นลงตามปริมาณผักที่เข้ามาส่งในตลาดจะมีมากหรือน้อย

ผู้ประกอบการร้านผักสด เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคกลางขณะนี้ ส่งผลทำให้พืชผลทางการเกษตรบางชนิดเริ่มขยับราคาขึ้น โดยเฉพาะพืชระยะสั้น เช่น ผักชี ต้นหอม และคะน้า ปัจจุบันต้องนำเข้าจากจีน เพื่อให้มีสินค้าจำหน่ายทดแทนผักในประเทศที่ขาดหายไป

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ด้านผู้จัดการอาคารค้าส่งผัก ตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ระบุว่า ตลาดผักแห่งนี้ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคเหนือไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่นำเข้าผักจากทางภาคตะวันตก ขณะเดียวกัน กลับมียอดคำสั่งซื้อจากตลาดผักทางภาคเหนือมากขึ้น เนื่องจากขาดแคลน เป็นผลมาจากน้ำท่วม

ขณะที่ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากน้ำลด ก็จะประเมินพื้นที่อีกครั้งว่ามีพืชผักชนิดใดเสียหายบ้าง เพื่อหามาตรการเยียวยาต่อไป 

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ข้อมูล ณ วันที่ 27ส.ค.2567 สถานการณ์ฝนตกที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ได้รับผลกระทบ 32 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 100,308 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 627,033 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าว 527,357 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 75,416 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 260 ไร่ ทั้งนี้ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์น้ำในบางจังหวัดยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

สถานการณ์น้ำท่วม ที่ยังคงกระทบพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงประเมินพื้นที่ความเสียหาย เพื่อรายงานผลกระทบให้ทราบเป็นรายวัน หากสถานการณ์คลี่คลายแล้วก็จะเตรียมหามาตรการ เข้าไปเยียวยาความเดือดร้อน

อ่านข่าวเพิ่ม :

นนทบุรีเตรียมกระสอบทราย 1.3 แสนใบ รับมือน้ำท่วมริมเจ้าพระยา

ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง "บางระกำ" คาดอีก 1 เดือนน้ำเต็มทุ่ง

"สุโขทัย" น้ำท่วมหนัก พนังกั้นน้ำแตก 8 จุด


"คมนาคม" จ่อชง ครม. 13 โครงการ มูลค่ารวม 7.27 แสนล้าน

Tue, 27 Aug 2024 19:47:16

วันนี้ (27 ส.ค.2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เตรียมแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอโครงการให้ที่ประชุม ครม.ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบ ทั้งโครงการที่เคยเสนอไปแล้ว และโครงการใหม่ที่อยู่ในกระบวนการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานอื่น ซึ่งมีความพร้อมแล้ว รวมจำนวน 13 โครงการ วงเงินรวม 727,388 ล้านบาท

สำหรับ 13 โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวม 6 เส้นทาง ได้แก่

1. ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 62,800 ล้านบาท
2. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,200 ล้านบาท
3. ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 57,300 ล้านบาท
4. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,800 ล้านบาท
5. ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,500 ล้านบาท
6. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6,660 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้แก่

7.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท
8. โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงศิริราช - ตลิ่งชัน - ศาลายา วงเงิน 15,286 ล้านบาท
9. โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท
10. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 (M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 31,358 ล้านบาท
11. มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท
12. โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ คาดใช้วงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท
13. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงินรวม 341,351 ล้านบาท

อ่านข่าว

"ป่าไม้" แจ้งข้อหาวัดดัง "พระใหญ่ภูเก็ต" รุกป่าเขานาคเกิด

เคาะเพิ่มเงินอุดหนุนบุตร อายุ 0-6 ปี จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท

ส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน